In Focusวังวนแห่งวิกฤตน้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 9, 2010 11:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทบริติช ปิโตรเลียม หรือ บีพี ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำมันรั่วไหลออกมาเป็นจำนวนมากในอ่าวเม็กซิโกตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นหายนะสำหรับระบบนิเวศน์ทางทะเลในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐ อุตสาหกรรมประมงในพื้นที่ และบีพีอย่างแท้จริง

ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมาประมาณ 24- 47 ล้านแกลลอนลงสู่น่านน้ำในอ่าวเม็กซิโกส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลอย่างรุนแรง ภาพร่างไร้วิญญาณของนกกระทุงสีน้ำตาลที่ถูกคราบน้ำมันดิบหนาเตอะปกคลุมไปทั่วทุกอณูเช่นเดียวกับร่างของปลาโลมาที่พบบนชายหาดนั้น เปรียบเสมือนฝันร้ายสำหรับชาวอเมริกัน

การที่น้ำมันไหลเข้าสู่พื้นที่ชุ่มน้ำจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกกระทุงสีน้ำตาลซึ่งเป็นนกประจำรัฐหลุยเซียน่าและเพิ่งถูกถอนรายชื่อออกจากบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เนื่องจากนกชนิดนี้จะต้องดำลงไปในน้ำเพื่อหาอาหาร นอกจากนั้นยังมีสัตว์อีกอย่างน้อย 12 สายพันธุ์ที่อาจได้รับอันตราย ทั้งนก เต่าทะเล และวาฬหัวทุย

ยอดการช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหลที่ถูกส่งมายังศูนย์ช่วยเหลือนกที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันที่ฟอร์ท แจ็คสันในรัฐหลุยเซียนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังเกิดเหตุการณ์มาได้ 6 สัปดาห์นั้น จำนวนนกกระทุงที่ถูกส่งมายังศูนย์ยังอยู่ที่ระดับ 1-4 ตัวต่อวัน แต่ยอดล่าสุดในสัปดาห์นี้กลับพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 53 ตัวต่อวัน และคาดว่า จะมีนกที่ถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษาและช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ของรัฐพบซากนก เต่าทะเล ปลาโลมา และสัตว์ประเภทอื่นๆในบริเวณอ่าวเม็กซิโกและตามแนวชายฝั่งเพราะคราบน้ำมันที่รั่วไหลรวมแล้ว 792 ตัว

พิษสงต่อโลกใต้ทะเล

นักพิษวิทยาด้านสัตว์น้ำ กล่าวว่า คราบน้ำมันจำนวนมหาศาลจะทำให้ปลาที่โตเต็มวัยตาย เพราะความเข้มข้นในระดับสูงของพิษในน้ำ อย่างไรก็ดี แม้ว่าบางพื้นที่จะพบว่าความเข้มข้นของพิษอยู่ในระดับต่ำ แต่การที่ในน่านน้ำมีทั้งน้ำมัน และสารขจัดคราบน้ำมันในปริมาณมากและยังผสมผสานเข้าด้วยกันอีกนั้น เรียกได้ว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์เป็นอย่างยิ่งสำหรับสิ่งมีชีวิตชีวิตในโลกใต้ทะเล

การแก้ปัญหาด้วยการใช้สารขจัดคราบน้ำมันเกือบถึง 1 ล้านแกลลอนนั้น นักวิทยาศาสตร์มองว่า สารเคมีในสารขจัดคราบน้ำมันจะทำให้สิ่งมีชีวิตในโลกใต้ทะเลล้มป่วยและตายลงในที่สุด นายคลินท์ กิดรี รักษาการณ์ประธานกลุ่มประมงกุ้งของรัฐหลุยเซียนา กล่าวถึงสารขจัดคราบน้ำมันที่ถูกนำมาใช้นี้ว่า เปรียบเสมือนกับยากำจัดวัชพืชที่กองทัพสหรัฐใช้ในสงครามเวียดนามดีๆนี่เอง เพราะองค์ประกอบของสารพิษเหล่านี้จะทำให้ผู้ที่ได้รับสารพิษป่วยเป็นมะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆนานา

การเปลี่ยนแปลงทิศทางการเคลื่อนไหวของน้ำมันที่รั่วไหลอย่างรวดเร็วทำให้การคาดการณ์เรื่องทิศทางการเคลื่อนตัวของน้ำมันเป็นเรื่องที่ลำบาก หากคราบน้ำมันเคลื่อนตัวไปทางตะวันออก หญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งหากินที่สำคัญของสัตว์ประเภทพยูนก็จะได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อน

นอกจากนี้ ปลาทูน่าครีบน้ำเงินก็เป็นสัตว์อีกสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มว่า จะตกเป็นเหยื่อของคราบน้ำมัน ซึ่งปกติแล้ว ทูน่าครีบน้ำเงินจะวางไข่ในน่านน้ำอ่าวเม็กซิโกในอีก 6 สัปดาห์ข้างหน้า และแน่นอนที่สภาพความเป็นพิษในน้ำจะส่งผลกระทบต่อไข่และลูกปลา รวมทั้งสัตว์ทะเลขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ตามพืชชนิดต่างๆในทะเลด้วยเช่นกัน

ชาวอเมริกันที่ชื่นชอบอาหารทะเลซึ่งเดินทางมาร่วมงานเทศกาลอาหารทะเลที่หลุยเซียนาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ต่างวิตกกันว่า น้ำมันและสารขจัดคราบน้ำมันที่ยังคงสะสมอยู่ในช่วงที่สัตว์ทะเลวางไข่นั้น จะทำให้กุ้งและหอยนางรมที่จะเติบโตพอดีกับฤดูกาลทำประมงครั้งต่อไปนั้นพากันล้มหายตายจากไปก่อน ซึ่งในที่สุดแล้ว มนุษย์ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของวังวนแห่งวิกฤตและห่วงโซ่อาหารก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ล่าสุด แม้แต่ชาวประมงที่เข้าไปช่วยทำความสะอาดคราบน้ำมันอย่างน้อย 9 รายยังต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

อนาคตที่แขวนไว้กับเส้นด้ายของอุตสาหกรรมประมงในรัฐหลุยเซียนา

สุภาษิตที่ว่า น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่าฉันท์ใด ชาวประมงก็ต้องพึ่งนาวาฉันท์นั้น เพราะโลกใต้ทะเลถือเป็นแหล่งทำมาหากินที่สำคัญ และอาหารทะเลก็เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อาหารที่มีประโยชน์เลี้ยงปากเลี้ยงท้องมนุษย์เรามาช้านาน ยิ่งโลกถูกซ้ำเติมจากภาวะโลกร้อนจนบอบช้ำมานาน การที่ท้องทะเลและพื้นที่ชายฝั่งต้องมาผจญกับปัญหาน้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่ก็ยิ่งทำให้ชาวประมงในพื้นที่ที่รับผลกระทบถึงกับต้องนอนก่ายหน้าผากกันเลยทีเดียว

ริช แอมบรอส ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและวิศวกรรมของมหาวิทยาลัย UCLA กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ผู้คนมักจะให้ความสนใจกับสิ่งที่มองเห็นได้อย่างบรรดานกหรือปลาที่ตามเนื้อตามตัวมีแต่คราบน้ำมัน แต่ในความเห็นของผมแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการประมงนั้นจะยิ่งรุนแรงกว่า

จอร์จ บาริซิช ชาวประมงชาวอเมริกันในรัฐหลุยเซียนาที่สามารถเอาชีวิตรอดมาได้จากพายุเฮอร์ริเคนกุสตาฟ ไอค์ และแคทริน่า กล่าวว่า ผู้คนต่างหัวเราะกันเสียยกใหญ่ เมื่อเขาบอกว่า เหตุน้ำมันรั่วไหลครั้งนี้จะรุนแรงและเลวร้ายยิ่งกว่าเฮอร์ริเคนพัดถล่มเสียอีก

ผลการศึกษาจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโลกของสหรัฐก็ไม่ได้ห่างไกลจากความวิตกกังวลของบาริซิชสักเท่าไรนัก เพราะสารทู บิวท็อกซ์เยทานอลที่พบในสารขจัดคราบน้ำมันที่ได้นำมาทดลองกับลิง หนู กระต่าย และสุนัข พบว่า เซลเม็ดเลือดแดงของสัตว์เหล่านี้ถูกทำลายลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไตและตับในที่สุด นอกจากนี้ สัตว์ที่ได้รับสารดังกล่าวยังมีอาการหายใจลำบากร่วมด้วย รวมทั้งอาการคันตามผิวหนัง ร่างกายอ่อนแอ และสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้จำนวนสัตว์เลี้ยงลูกน้ำนมลดลงไปโดยปริยาย

ในขณะที่มีการทดสอบค่าความเป็นพิษด้วยวิธีการต่างๆนั้น เรือประมงในชุมชนบายู ลา ลูทร์ ของรัฐหลุยเซียนาต้องทอดสมอรอเวลาไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ทั้งที่ฤดูจับกุ้งในรัฐหลุยเซียนาได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในสัปดาห์นี้ ชาวประมงบางกลุ่มที่ต้องการหารายได้ในช่วงนี้จึงหันมารับจ้างบริษัทรับเหมาของบีพี เพื่อนำเรือประมงสำหรับจับกุ้งไปดักจับคราบน้ำมันแทน

หายนะที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนนั้น ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ในเร็ววัน แม้ว่า บีพีจะออกมาระบุว่า บริษัทสามารถดักจับน้ำมันที่รั่วไหลออกมาได้มากขึ้น 10,500 บาร์เรล จากระดับเดิมที่ 6,077 บาร์เรล แต่เวลาที่ผ่านพ้นไปในแต่ละวันมีแต่จะฉุดรั้งระบบนิเวศน์ในอ่าวเม็กซิโกให้ได้รับความเสียหายมากยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐคาดการณ์ว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล อาจจะยืดเยื้อยาวนานไปจนถึงเดือนธ.ค.ปีนี้เลยทีเดียว

“บีพี" งัดงบประมาณและเทคโนโลยีแก้ปัญหาสุดตัว

บีพีไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น บริษัทได้ลงมือแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมาเป็นจำนวนมาก พร้อมกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยมีส่วนทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้า บริษัทต้องใช้หลายมาตรการร่วมกัน เช่น โครงการสร้างสันทราย (sand berm) จำนวน 6 แห่ง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันไหลเข้าสู่พื้นที่ชุ่มน้ำในรัฐหลุยเซียนา

นอกจากนี้ ยังมีการทำความสะอาดน้ำมันที่รั่วไหลและหยุดยั้งการรั่ว ด้วยการใช้เครื่องบินโปรยสารเคมี การใช้กระบวนการให้กลายเป็นไอ (evaporation) และกระบวนการอื่นๆทางธรรมชาติ เพื่อสลายคราบน้ำมัน โดยในเบื้องต้น บริษัทตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะสลายคราบน้ำมันให้บางจนสามารถเห็นพื้นผิวของน้ำทะเล ต้นทุนการแก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโกจนถึงขณะนี้พุ่งขึ้นเป็น 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์แล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมเงิน 360 ล้านดอลลาร์ที่ต้องจ่ายในโครงการสร้างสันทราย

นอกจากจะต้องควักเนื้อเพื่อหยุดยั้งปัญหาแล้ว บริษัทยังต้องเตรียมจ่ายค่าเสียหายอีกเป็นจำนวนมาก หลังรัฐบาลสหรัฐเรียกเก็บเงินกว่า 69 ล้านดอลลาร์จากบริษัท โดยรัฐบาลสหรัฐส่งบิลเรียกเก็บเงินเบื้องต้นจำนวน 69.09 ล้านดอลลาร์ให้กับบีพีและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุน้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งโรเบิร์ต กิบส์ โฆษกทำเนียบขาวเผยว่า บีพีมีเวลาถึงวันที่ 1 กรกฎาคมในการจ่ายเงินเบื้องต้นทั้งหมด

รัฐบาลสหรัฐถูกวิจารณ์หนักเหตุแก้ปัญหาล่าช้า

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ต้องเดินทางลงพื้นที่ตรวจอ่าวเม็กซิโกเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 1 เดือน เพื่อประเมินสถานการณ์ในการแก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลที่ทางทำเนียบขาวยอมรับว่า เป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ

โอบามาถูกกดดันอย่างหนักจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งจากสมาชิกพรรคเดโมแครตที่กล่าวโทษว่า คณะทำงานของโอบามาไม่ได้ออกมาตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างทันท่วงที และใช้เวลาในการหาทางแก้ปัญหานานเกินเหตุ ตลอดจนไว้ใจในบริษัท บีพี มากจนเกินไป ขณะที่โอบามาได้ให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับประชาชน และหาข้อมูลจากนักวิชาการ เพื่อที่จะได้ข้อมูลประกอบการแก้ปัญหา

โอบามาต้องยกเลิกแผนการเดินทางเยือนอินโดนีเซียและออสเตรเลียในเดือนนี้ออก เพื่ออยู่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น นับเป็นครั้งที่ 4 แล้วที่ผู้นำสหรัฐเลื่อนแผนการเดินทางเยือนอินโดนีเซียออกไป นอกจากมาตรการทางกฎหมายแล้ว โอบามายังได้ออกคำสั่งระงับการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งเป็นเวลา 6 เดือน

ฮาเลย์ บาร์โบร์ ผู้ว่าการรัฐมิสซิสซิปปี กล่าวว่า คำสั่งห้ามขุดเจาะนอกชายฝั่ง จะทำให้การผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกสูญเสียไป และต้องหันมานำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นแทน การสูญเสียความสามารถในการผลิตน้ำมันจะทำให้เราต้องพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลาง หรือเวเนซูเอล่า ซึ่งรู้กันดีว่า ประเทศเหล่านี้ไม่ได้รักอเมริกาสักเท่าไรนัก

บาร์โบร์ได้สนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้ว่าการรัฐหลุยเซียนาที่ขอให้มีการฟื้นการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวอีกครั้ง หลังจากที่แท่นขุดเจาะน้ำมันในน้ำลึก 33 แท่นในอ่าวเม็กซิโกถูกปิดทำการลง โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ราคาแก็สธรรมชาติถีบตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 สัปดาห์ที่พิตส์เบิร์ก เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตกังวลว่า การคุมเข้มการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งจะลุกลามมายังการขุดเจาะน้ำมันภาคพื้นดิน

ล่าสุด กระทรวงพลังงานสหรัฐได้เปิดเผยรายงาน "Short- Term Energy Outlook" ซึ่งปรับลดคาดการณ์ผลผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกลง 6.1% เนื่องจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลครั้งรุนแรงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์แท่นขุดเจาะน้ำมันของบีพีระเบิดเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา

รายงานของกระทรวงพลังงานสหรัฐระบุว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันโดยเฉลี่ยจะลดลง 26,000 บาร์เรล/วัน ในไตรมาส 4 ปีนี้ และลดลง 70,000 บาร์เรล/วันในปีหน้า โดยปริมาณการผลิตที่ลดลง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของการผลิตน้ำมันในสหรัฐนั้น เกิดขึ้นหลังจากโอบามา ประกาศใช้มาตรการห้ามขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่น้ำลึกของอ่าวเม็กซิโกเป็นการชั่วคราว

แม้ว่า ปัญหาจะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจพลังงาน แต่ชาวอเมริกันทั่วประเทศก็ไม่ได้เมินเฉย นักแสดง ผู้กำกับชื่อดัง และบุคลากรในวงการต่างๆก็รวมตัวกันช่วยแก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโกกันอย่างคับคั่ง โดยเจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับภาพยนตร์ Avatar และ Titanic ได้เข้ามาช่วยในเรื่องของการแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ใต้น้ำที่ตนเองเชี่ยวชาญมาเป็นเวลานานถึง 22 ปี และเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมเครื่องยนต์กลไกจากระยะไกลที่ได้มาจากประสบการณ์ในการพัฒนาเรือดำน้ำและยานพาหนะที่สามารถทำงานได้ในทะเลลึก

เจมส์ คาเมรอน กล่าวกับวอชิงตัน โพสท์ ว่า จากการติดตามสถานการณ์ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างระทึกและเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอ่าวเม็กซิโกแล้ว ก็เห็นว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกลับไม่รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ จึงขอเสนอให้รัฐบาลใช้ระบบการติดตามการรั่วไหลน้ำมันด้วยการใช้ระบบที่ตนเองได้พัฒนาขึ้นมา

นอกจากนี้ เควิน คอสท์เนอร์ ดาราชื่อดังก็เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้เช่นกัน ด้วยการลงทุนกว่า 24 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์กำจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลออกมา ขณะที่เท็ด แดนสัน ดาราจากเรื่อง Cheers และยังเป็นนักสิ่งแวดล้อมที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการบอรด์โอเชียเนีย กล่าววิจารณ์ถึงเหตุน้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่ของสหรัฐว่า ไม่ควรจะมีการขุดเจาะน้ำมันในมหาสุมทรอีกต่อไป การที่เราจำเป็นต้องขุดน้ำมันนอกชายฝั่ง เพื่อให้เกิดการจ้างงานนั้นถือเป็นเรื่องที่ผิดพลาด

แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นที่แท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งโพ้นทะเล แต่ผลพวงจากสถานการณ์กลับแพร่กระจายเหมือนคลื่นแตกฟองที่พัดเข้าถึงทุกซอกมุมของสหรัฐ โชคดีที่สหรัฐมีเทคโนโลยี งบประมาณ และผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนความรับผิดชอบของบริษัท มิเช่นนั้นวังวนแห่งวิกฤตครั้งนี้คงยากที่จะหลุดพ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ