(เพิ่มเติม) "สหฟาร์ม"ตั้งเป้ายอดส่งออกไก่ปี 53 โตหมื่นลบ.แนวโน้ม H2/53 ดีต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 2, 2010 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปัญญา โชติเทวัญ ในฐานะผู้ก่อตั้งและประธาน บริษัท สหฟาร์ม กล่าวว่า ในปี 53 นี้รัฐบาลได้มีนโยบายจะผลักดันให้ยอดส่งออกไก่กลับไปอยู่ระดับ 4 แสนตันอีกครั้ง ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าน่าจะเป็นไปได้ หลังจากในช่วง 6 เดือนแรก ประเทศไทยสามารถส่งออกไก่ไปต่างประเทศแล้ว 1.8 แสนตัน เฉพาะของสหฟาร์มเอง 3.3 หมื่นตัน ส่วนที่เหลืออีก 6 เดือนทุกฝ่ายต้องร่วมมือและช่วยกันเพื่อให้ยอดส่งออกไก่ตรงตามเป้าหมาย

ขณะที่ ในส่วนของบริษัทตั้งเป้าส่งออกไก่ ทั้งไก่ปรุงสุกและไก่สดคิดเป็นมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท หรือ 1 แสนตัน จากปี 52 ที่มีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะผลจากการที่รัฐบาลจัดงาน Thailand Best Friend 53 ทำให้บริษัทมีคู่ค้ามากขึ้นอีก 16 ราย เมื่อรวมกับคู่ค้าต้นทางและปลายทั้งของบริษัทเองและคู่ค้าหลัก รวมแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 1 พันราย

นายปัญญา กล่าวว่า ในอดีต สหฟาร์มเคยส่งออกได้ถึง 1 แสนตัน แต่จากปัญหาไข้หวัดนกระบาดเมื่อ 7 ปีก่อนทำให้ยอดการส่งออกลดลงทั้งในภาพรวมทั้งประเทศและในส่วนของบริษัทเอง จากที่ประเทศไทยเคยส่งออกผลิตภัณฑ์จากไก่ได้ถึงปีละ 4 แสนตันลดลงเหลือ 3.5 แสนตัน หรือร้อยละ 90 ของยอดส่งออกของปี 2546

ส่วนในปี 54 คาดว่ายอดส่งออกไก่จะเติบโตในอัตรา 20-30% จากการเปิดโรงงานใหม่อีก 3 แห่งในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อขยายกำลังการผลิตอีก 1 แสนตัน เพื่อจะมาสนับสนุนการเติบโตของการขายในประเทศและการส่งออก โดยเป็นการนำเทคโนโลยีมากจากประเทศเนเธอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม ยอมรับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุโรปมีผลทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของ EU ลดลง ราคาขายเฉลี่ยสินค้าในยุโรปตกลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไก่ เนื่องจากตลาดยุโรปเป็นตลาดหลักของบริษัทมากกว่า 55% รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ประมาณ 40% และอื่นๆ 5% แต่บริษัทมีหลักในการทำงานคือปัญหาอะไรที่เกิดจากปัจจัยภายนอก และไม่สามารถควบคุมได้ ก็จะไม่นำมาคิดเพื่อกดดัน แต่จะคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ต่อไปได้ เมื่อยุโรปมีปัญหาเราก็หันไปเน้นตลาดอื่นๆทดแทน

"หลักคิดของสหฟาร์มคือ อะไรที่ควบคุมไม่ได้ จะไม่นำมาคิดเป็นปัญหา แต่จะคิดว่าทำอย่างไรจะอยู่ต่อไปได้"นายปัญญา กล่าว

ทั้งนี้ มองภาพรวมความต้องการอาหารโลกยังเติบโตดี เพราะจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าจะถึง 1 หมื่นล้านคนในเร็วๆนี้ จากปัจจุบัน 7 พันล้านคน แต่พื้นที่ในการผลิตอาหารไม่ได้ขยายตัวตาม ยิ่งบางประเทศที่ประสบภัยพิบัติรุนแรงจะยิ่งทำให้ความต้องการอาหารก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมองว่าประเทศที่ยังมีศักยภาพและความสามารถด้านการผลิต รวมทั้งมีต้นทุนวัตถุดิบถูกจะมีความได้เปรียบในการผลิตหรือขายอาหารเพื่อมนุษยชาติ

ส่วนคู่แข่งของไทยในการส่งออกไก่รายสำคัญ คือ บราซิล ซึ่งได้เปรียบกว่าไทยในเรื่องต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต่ำกว่าไทยมาก

ส่วนปัญหาการขาดแคลนน้ำในขณะนี้ มองว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้มากๆ เพราะน้ำคือหัวใจของการทำเกษตร ถ้าทำเกษตรแต่ขาดน้ำ ก็ไม่เกิดผลผลิต เกษตรกรก็ไม่มีรายได้ แล้วที่สำคัญถ้าเกษตรกรไม่มีผลผลิต โครงการประกันรายได้เกษตรกรก็แทบไม่มีประโยชน์ หรือมีรัฐบาลก็ต้องงบประมาณมหาศาลเพื่อมาทำในเรื่องนี้

"สู้ทำให้แหล่งน้ำเข้าถึงทุกตารางนิ้วของประเทศน่าจะได้ผลดีกว่า"นายปัญญา กล่าว

ส่วนปัญหาราคาไข่แพง มองว่า เกิดจากการผูกขาด รัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้เกิดการผูกขาดทางการค้า ควรปล่อยให้เป็นการค้าแบบเสรี ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการเลี้ยงไก่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 100% ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และการแข่งขันก็จะก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพสินค้าเข้าสู่ตลาด คนที่จะได้รับประโยชน์คือประชาชนผู้บริโภค


แท็ก ว่าน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ