ก.เกษตรฯ ร่วมมือศรีลังกาพัฒนาการปลูกอ้อย-ยางพาราระหว่างสองประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 16, 2010 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายมาฮินดา สมราสิงเห รมว.อุตสาหกรรมการเพาะปลูกศรีลังกาว่า ประเด็นที่มีการหารือความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้ คือ ความร่วมมือในการพัฒนาการปลูกอ้อยและยางพาราซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศศรีลังกาให้ความสนใจมาก จากความชำนาญและเชี่ยวชาญของไทยในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในหลักการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมที่จะมีความร่วมมือทางวิชาการในเรื่องดังกล่าวกับศรีลังกา

โดยขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 6.3 ล้านไร่ มีผลผลิตอ้อยประมาณ 69 ล้านตันต่อปี โดยสามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้ประมาณ 6.9 ล้านตัน เป็นการบริโภคในประเทศ 2.1 ล้านตัน และส่งออกไปยังประเทศต่างๆ 4.8 ล้านตัน ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น กัมพูชา และมาเลเซีย

ขณะที่ยางพาราเป็นพืชยืนต้นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย ในปี 2551 ไทยมีพื้นที่การปลูกยางพาราประมาณ 16.89 ล้านไร่ ก่อให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องทั้งภาคการผลิตทางการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคการตลาด มีผลผลิตยางดิบประมาณ 3.09 ล้านตัน ก่อให้เกิดรายได้ จำนวน 402,563 ล้านบาทจากการส่งออกยางดิบ ผลิตภัณฑ์ยาง และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา สำหรับมูลค้าการค้าระหว่างไทย-ศรีลังกา พบว่า ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปศรีลังกาเพิ่มขึ้นจาก 1,914 ล้านบาท ในปี 2550 เป็น 3,361 ล้านบาท

ในปี 2552 ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า ในขณะที่นำเข้าลดลงจาก 196 ล้านบาท ในปี 2550 เป็น 77 ล้านบาท ในปี 2552 สินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ ปลาและสัตว์น้ำ อาหารปรุงแต่ง ของปรุงแต่งจากธัญพืช และพืชผัก เป็นต้น สินค้าเกษตรนำเข้าจากศรีลังกา ส่วนใหญ่เป็นเพียงสินค้าผลิตภัณฑ์แป้งจากธัญพืช ซึ่งมีมูลค่านำเข้าประมาณ 53 ล้านบาท ในปี 2552 “แม้ว่าศรีลังกาจะมีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร รวมถึงมีความหลากหลายทางพันธ์พืชและสมุนไพร แต่ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก

ดังนั้น สินค้าเกษตรแปรรูปของไทยหลายชนิด เช่น ผลไม้แปรรูป กะทิกระป๋อง ปลา อาหารทะเล และแป้งมันสำปะหลังของไทยมีลู่ทางที่ดีในตลาดนี้ และเป็นที่ต้องการมาก ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีโอกาสในธุรกิจการค้าด้านการเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งศรีลังกาต้องการสินค้าด้านการเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม ที่ประเทศไทยมีความชำนาญในการผลิตเพื่อส่งออก เช่น ข้าว อาหารสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป นอกจากนี้ เครื่องจักรที่ใช้ในการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ไทยผลิตได้โดยใช้เทคโนโลยีขั้นต้นสามารถเจาะตลาดศรีลังกาได้เช่นกัน เช่น เครื่องนวดข้าว เครื่องปอกเปลือกมะพร้าว เครื่องปั่นไฟ เครื่องให้ออกซิเจนในนากุ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ ศรีลังกายังมีสัตว์ทะเลในน่านน้ำศรีลังกาปริมาณมากพอที่ไทยจะเข้ามาร่วมทุนทำการประมงชายฝั่ง รวมทั้งการตั้งโรงงานผลิตสินค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลได้ เช่น อุตสาหกรรมประมงชายฝั่ง รวมทั้งการตั้งโรงงานผลิตสินค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลได้ เช่น อุตสาหกรรมประมงชายฝั่ง อุตสาหกรรมปลากระป๋องและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ที่นี่ได้ เช่น โรงงานผลิตน้ำแข็งและอุตสาหกรรมห้องเย็น และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ