รมว.พลังงาน หวังโครงการลงทุนมาบตาพุดฉลุยหลังศาลปกครองมีคำพิพากษาแล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 31, 2010 17:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.พลังงาน คาดหวังคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีมาบตาพุดจะออกมาเป็นผลดีต่อการลงทุน โดยเฉพาะโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 6 ของ บมจ.ปตท.(PTT) ที่จะสามารถขออนุญาตเดินหน้าโครงการได้ภายใน 1 เดือน

"ไม่สามารถคาดการณ์คำตัดสินของศาลได้ แต่หากศาลพิจารณายกคำฟ้อง ภาคเอกชนก็พร้อมที่จะเดินหน้าโครงการต่อไปได้ โดยเฉพาะในส่วนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติโรงที่ 6 ของ บมจ.ปตท.ผ่านก็สามารถขออนุญาตเพื่อขอดำเนินการได้ทันทีภายใน 1 เดือน" นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าว

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลาง นัดพิพากษาคดีที่สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนและพวกรวม 43 ราย ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและพวกรวม 8 ราย กรณีออกใบอนุญาตก่อสร้าง 76 โครงการลงทุนในมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงโดยมิชอบ ในวันที่ 2 ก.ย.นี้ เวลา 13.30 น.

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้โครงการโรงแยกก๊าซฯ ได้จัดทำรายงานกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากเดินหน้าโครงการต่อไปได้จะสามารถผลิตแอลพีจีได้ 80,000-100,000 แสนตันต่อเดือน และในไตรมาส 4 ปีนี้อาจจะลดการนำเข้าได้เหลือประมาณ 3 หมื่นตันต่อเดือน จากเดิมที่คาดว่าจะนำเข้าประมาณ 1.3 แสนตันต่อเดือน

รมว.พลังงาน กล่าวว่า มีนโยบายที่จะปรับแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว(PDP 2010) ใหม่ หลังความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และความชัดเจนจากการประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม 11 ประเภทกิจการออกมา ซึ่งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และมีกำลังการผลิตเกินกว่า 3,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีกำลังการผลิตเกิน 100 เมกะวัตต์ จะต้องทำ HIA ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า อาจจะมีโรงไฟฟ้าบางโรงซึ่งอยู่ในแผนพีดีพีล่าช้าออกไป ทำให้ต้องมีการปรับแผนพีดีพีให้มีความเหมาะสม

ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ตามแผนพีดีพีทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง และถ่านหิน ขณะนี้ได้วางแผนไว้ว่าโครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย โรงที่ 4 ที่ตั้งอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าจะนะ โรงที่ 2 ที่ตั้งอยู่ที่ จ.สงขลา ซึ่งไม่เข้าข่ายกิจการรุนแรงก็จะสามารถเร่งให้ก่อสร้างได้เร็วกว่าแผนประมาณ 2-3 เดือน ขณะที่โรงไฟฟ้าหนองแซง ที่ตั้งใน จ.สระบุรี ยังเป็นไปตามแผนพีดีพี

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงจะต้องทำ HIA ก็ไม่น่าจะมีปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการตามแผน เพราะตามแผนพีดีพีจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงแรกของ กฟผ.จะเกิดขึ้นในปี 2562 ซึ่งแม้จะเพิ่มขั้นตอนในการทำ HIA ก็ยังอยู่ในกำหนดเวลา

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ที่ตั้งอยู่ใน จ.ฉะเชิงเทรา ของบริษัท เนชั่นแนล พาวเวอร์ ซัพพลาย จำกัด อาจจะต้องล่าช้าออกไปจากแผนมากกว่า 2 ปี จากเดิมคาดว่าจะเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟฟ้าออกไปแค่ 2 ปี เพราะนอกจากจะมีปัญหาการต่อต้านของคนในพื้นที่แล้ว ยังมีปัญหาที่จะต้องทำเอชไอเอเพิ่มด้วย

อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงพลังงานต้องการปรับแผนพีดีพีใหม่ โดยจะเร่งให้เกิดโรงไฟฟ้าของ กฟผ.เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเอกชนที่ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ กฟผ.ก็มีพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้าพระนครเหนือเหลืออยู่สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้อีก 1 บล็อก ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 700-800 เมกะวัตต์ ซึ่งพื้นที่นี้มีความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพราะมีท่อส่งก๊าซฯ ต่อมาที่โรงไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว และจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก็ไม่มีคนต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ดังนั้นจะสามารถที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ทันทีโดยใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4-5 ปี

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพระนครเหนือมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอายุการใช้งานมานาน ขนาดกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพิลง ขณะนี้ได้ก่อสร้างเสร็จแล้วอยู่ระหว่างทดลองเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เชิงพาณิชย์ได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ