In Focusวิถีเศรษฐกิจญี่ปุ่น จากก้าวกระโดด สู่จังหวะสโลว์เมื่อเยนแข็งค่า เงินฝืดขวางทาง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 1, 2010 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้ระเบิดปรมาณูที่ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องกลายเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และถือเป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นอย่างไม่มีวันลบเลือน แต่ในขณะเดียวกัน ความบอบช้ำจากสงครามก็ถือเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ “(ลูก)พระอาทิตย์" โผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมาส่องแสงเจิดจ้าอีกครั้งในฐานะประเทศอุตสาหกรรมประเทศแรกในเอเชีย

ก้าวเดินอย่างฉับไว

หลังปราชัยในสงคราม ญี่ปุ่นได้เร่งฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจนสามารถผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมในระยะเวลาสั้นๆเพียงแค่ 2 ทศวรรษ ด้วยลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น 2 ประการของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลก นั่นก็คือโครงสร้างธุรกิจแบบเครือข่าย (Keiretsu) ที่มีการเรียงร้อยเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่ระหว่างผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ และผู้จำหน่าย ซึ่งช่วยให้กลุ่มบริษัทญี่ปุ่นมีอำนาจต่อรองและความได้เปรียบในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ และเอกลักษณ์อีกประการหนึ่งคือ การรับประกันเรื่องการจ้างงานตลอดชีวิต เนื่องจากสัดส่วนแรงงานในเมืองที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ โครงสร้างการผลิตของญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงไปโดยที่ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีบทบาทแทนที่ภาคการเกษตร ญี่ปุ่นได้กลายเป็นบ้านเกิดของบริษัทผู้ผลิตชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และโซนี่ แคนนอน นินเทนโด ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ เป็นต้น ซึ่งกำลังการผลิตที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงปี พ.ศ. 2500-2520 เติบโตอย่างมาก โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริงในช่วงทศวรรษที่ 2500, 2510 และ 2520 เฉลี่ยอยู่ที่ 10, 5 และ 4% ตามลำดับ

จังหวะสะดุด เมื่อฟองสบู่แตก - เศรษฐกิจชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างเด่นชัดในช่วงทศวรรษ 2530 ที่อัตราเฉลี่ยเพียง 1.7% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการลงทุนที่ซบเซาและภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ในช่วงปลายทศวรรษ 2520

โดยหลังจากฟองสบู่แตก เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เริ่มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่ได้นิ่งดูดาย แต่ความพยายามอย่างหนักที่จะผลักดันเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้งนั้น ไม่ราบรื่นดังหวัง เมื่อมีอุปสรรคขวากหนามอย่าง วิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2540 และล่าสุดกับวิกฤตการเงินที่สร้างปรากฏการณ์โดมิโนไปทั่วโลกเมื่อปีพ.ศ. 2551

ถึงแม้ว่าภาคการเงินของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากวิกฤตซับไพรม์น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อื่นๆ เพราะภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องนานหลายทศวรรษได้ทำให้ญี่ปุ่นระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น การลงทุนที่อ่อนแอดังกล่าวก็กลายเป็นดาบสองย้อนเข้าแทงญี่ปุ่น ประกอบกับการที่ทั่วโลกต้องการสินค้าส่งออกจากญี่ปุ่นน้อยลงมาก จึงทำให้ในที่สุด ญี่ปุ่นก็ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2551 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ทั่วโลก

ปัจจุบัน แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะถดถอยแล้ว แต่การฟื้นตัวยังง่อนแง่น เมื่อปรากฏว่า จีดีพีไตรมาส 2/2553 ซึ่งสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น ขยายตัวเพียง 0.4% ต่อปี และ 0.1% ต่อไตรมาส ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยายตัวถึง 2.3% ต่อปี และ 0.6% ต่อไตรมาส

อัตราการเติบโตที่ช้าลงยังทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียอันดับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ให้กับจีนอีกด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ญี่ปุ่นได้แซงหน้าเยอรมนีตะวันตกขึ้นครองตำแหน่งดังกล่าว เมื่อปีพ.ศ.2511

เมื่อปัญหา เยนแข็งค่า - เงินฝืด กลายเป็นหินขวางทาง

หินก้อนใหญ่ที่ขัดขวางการก้าวเดินของเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็คือ ปัญหาเยนแข็งค่าและงินฝืด

ในช่วงต้นทศวรรษ 2510 ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นมากจนทำให้บริษัทจำนวนมากย้ายฐานการผลิตออกไปนอกประเทศ และปัญหาดังกล่าวได้ปะทุรุนแรงขึ้นอีกครั้งในระยะหลังมานี้ โดยในสัปดาห์ที่แล้ว เงินเยนได้พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ 83 เยน ซึ่งเงินเยนแข็งค่าถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เพราะเงินเยนที่แข็งค่าจะลดทอนอำนาจการแข่งขันของสินค้าส่งออกญี่ปุ่นในตลาดต่างประเทศ และยังลดมูลค่าผลกำไรของบริษัทญี่ปุ่นที่มีกิจการในต่างประเทศเมื่อมีการแปลงมูลค่าสกุลเงินท้องถิ่นนั้นๆกลับมาเป็นเงินเยน

และเมื่อวันศุกร์ที่ 27 ส.ค. ได้มีการเปิดเผยผลผลสำรวจจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ซึ่งระบุว่า ผู้ประกอบการภาคการผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นเกือบ 40% จากกว่า 200 บริษัทที่ร่วมตอบแบบสำรวจ มีแผนย้ายฐานการผลิต หรือเปลี่ยนศูนย์กลางด้านการพัฒนาสินค้าไปยังต่างประเทศ หากหากเยนยังแข็งไม่หยุด

ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า การที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์นั้นอาจส่งผลกระทบให้บริษัทราว 65% มีผลกำไรลดลง ขณะที่การแข็งค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินยูโรอาจส่งผลกระทบให้บริษัทราว 50% เผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกัน

นายมาซายูกิ นาโอชิม่า รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจฯ กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินเยนจะสร้างปัจจัยลบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และอาจทำให้เกิดช่องโหว่ในภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในระยะกลางถึงระยะยาว เนื่องจากการแข็งค่าของเงินเยนจะบดบังทิศทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ที่ขับเคลื่อนด้วยภาคการส่งออก

ขณะที่ นายโยชิฮิโกะ โนดะ ก็ได้ออกมายอมรับกับผู้สื่อข่าวว่า การแข็งค่าของเงินเยนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่างๆ และสถานการณ์ดังกล่าวก็นับว่าร้ายแรง

นอกจากปัญหาเงินเยนแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ครอบงำเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 ก็คือปัญหาเงินฝืด โดยภาวะเงินฝืดส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทต่างๆในประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคลังเลที่จะใช้จ่ายเพราะต้องการรอให้ราคาลดต่ำลงกว่านี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ได้ปรับตัวลดลงอีก 1.1% ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน

ทาเคชิ มินามิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยโนรินชูคิน กล่าวว่า เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้การส่งออกหดตัวลง และจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นไปอย่างเชื่องช้า และด้วยปัจจัยลบดังกล่าว ญี่ปุ่นจึงน่าที่จะอยู่ในประสบภาวะเงินฝืดต่อไปอีก 2 — 3 ปี

รัฐบาล-แบงก์ชาติจับมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศ

สถานการณ์เงินเยนแข็งค่าและเงินฝืดที่ยืดเยื้อยาวนานและกำลังทวีความรุนแรงในช่วงเวลานี้ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นนั่งไม่ติด ต้องออกโรงถกเครียดกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เพื่อออกมาตรการรับมือกับปัญหาดังกล่าวที่กำลังบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ ท่ามกลางแรงกดดันจากภาคธุรกิจและการเมือง

โดยทันทีที่เดินทางกลับมาจากการประชุมร่วมกับผู้ว่าการแบงก์ชาติจากหลายประเทศที่สหรัฐ นายมาซาอากิ ชิรากาวา ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็ได้จัดประชุมฉุกเฉินขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผลของการประชุมนั้น บีโอเจได้ประกาศขยายวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะ 6 เดือนแก่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ อีก 10 ล้านล้านเยน (1.17 แสนล้านดอลลาร์) เพิ่มจากที่เคยปล่อยเงินกู้ระยะ 3 เดือน มูลค่า 20 ล้านล้านเยนไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

แบงก์ชาติญี่ปุ่นคาดหวังว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมจะทำให้มีกระแสเงินทุนจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ของภาคเอกชนมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลง ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้นและมีการใช้จ่ายด้านทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคก็จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายส่วนบุคคลให้เพิ่มขึ้นด้วย

ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ประกาศแผนของตนเองในวันเดียวกันว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 9.20 แสนล้านเยนจากกองทุนสำรองในปีงบประมาณ 2553 เพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ภายในช่วงสิ้นเดือนก.ย.นี้ ทั้งนี้ นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรี ได้ตกลงอนุมัติแผนการดังกล่าวเพื่อต่อสู้กับเงินเยนที่แข็งค่า รวมถึงเพื่อรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐและหลายประเทศในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าของญี่ปุ่น

โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับการสร้างงานและกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นลำดับแรก ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่จะนำมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้แก่ การให้ความช่วยเหลือบริษัทที่รับบัณฑิตจบใหม่เข้าทำงาน และการสนับสนุนบริษัทขนาดเล็กให้รับคนอายุน้อยที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาเข้าทำงาน นอกจากนี้ รัฐบาลจะขยายโครงการ "eco-point" ออกไปจนถึงเดือนมี.ค.ปีหน้า จากเดิมที่จะหมดอายุลงในเดือนธ.ค.ปีนี้ เพื่อสนับสนุนการซื้ออุปกรณ์ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กระแสตอบรับต่อมาตรการของแบงก์ชาติและรัฐบาล

สำหรับกระแสตอบรับต่อมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลและแบงก์ชาติญี่ปุ่นนั้น มีทั้งที่เป็นบวกและลบ โดยนักวิจารณ์บางส่วนกล่าวว่า ทั้งมาตรการของบีโอเจและของรัฐบาลยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ขณะที่นักลงทุนในตลาดการเงินบางกลุ่มแย้งว่า บีโอเจควรเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลเพิ่มขึ้น

ขณะที่ตลาดเงิน ดูเหมือนจะไม่ยินดียินร้ายกับการดำเนินการของบีโอเจเท่าไรนัก โดยเงินเยนกลับมาดีดตัวขึ้นอีกเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ หลังจากที่ได้มีการประกาศแผนการดังกล่าว ซึ่งนักวิเคราะห์กล่าวว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะนักลงทุนคาดหวังว่าจะได้เห็นการดำเนินการที่เด็ดขาดและหนักแน่นกว่านี้จากบีโอเจ

นอกจากนี้ การที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น มีสาเหตุมาจากนักลงทุนทุ่มซื้อสกุลเงินเยนเพราะเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยมากกว่าถือครองสกุลเงินของยุโรปและสหรัฐที่เศรษฐกิจภายในประเทศกำลังอ่อนแอ ด้วยมุมมองเช่นนี้ ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่ามาตรการครั้งล่าสุดของบีโอเจจะไม่ช่วยให้วงจรดังกล่าวหมดไป และอาจเป็นเหตุให้เงินเยนด้อยมูลค่าลงอย่างฉับพลัน

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับขานรับมาตรการของบีโอเจ โดยตลาดปิดบวกเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่า จะมีมาตรการด้านการเงินและการคลังใหม่ๆออกมาอีกเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้

ด้านผู้นำภาคธุรกิจของญี่ปุ่นแสดงความชื่นชมที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยนาย ฮิโรมาซะ โยเนคูระ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นกล่าวว่า บีโอเจประกาศใช้นโยบายดังกล่าวได้อย่างถูกที่ถูกเวลา

ขณะที่นาย ทาดาชิ โอกามูระ ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นกล่าวว่า ทางหอการค้าฯ หวังว่า การใช้มาตรการผ่อนคลายด้านการเงินฉบับใหม่ของบีโอเจจะช่วยส่งสัญญาณไปยังตลาดเงินและตลาดหุ้น

มาซามิตซุ ซากุราอิ ประธานสมาคมกลุ่มผู้บริหารภาคเอกชนของญี่ปุ่นเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มการใช้มาตรการใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น การปรับลดภาษีนิติบุคคล เป็นต้น พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านการจ้างงาน 5 ล้านตำแหน่งในภาคอุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพ พลังงานสะอาด และภาคธุรกิจอื่นๆ รวมถึงกำหนดนโยบายที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระบบประกันสุขภาพและระบบประกันสังคมของญี่ปุ่น

ปิดท้ายด้วยนายโชอิ อัตซึดะ ประธานสภาการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นกล่าวในแถลงการณ์ว่า มาตรการที่บีโอเจได้ประกาศออกมานั้นมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่ธนาคารควรวางแผนขั้นตอนต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้รัฐบาลนำนโยบายต่างๆ ไปใช้ได้ทันทีเมื่อถึงคราวจำเป็น

สถานการณ์เศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นเผชิญอยู่นี้ ถือเป็นภาพสะท้อนวัฏจักรที่ว่ามีขึ้นก็ย่อมมีลง ซึ่งจากนี้ไป ญี่ปุ่นคงรอวันที่จะได้กลับมาก้าวกระโดดอีกครั้ง หลังจากที่ชะลอฝีเท้ามานานแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ