บริษัทขนาดเล็กของญี่ปุ่นมีความเห็นแตกต่างกันหลังญี่ปุ่นแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 15, 2010 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธุรกิจขนาดเล็กของญี่ปุ่นบางส่วนขานรับกับการเข้าไปแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราของทางการญี่ปุ่นในวันนี้ เพื่อสกัดการแข็งค่าของเงินเยน ขณะที่บริษัทบางส่วนก็มองว่า ญี่ปุ่นเข้าไปแทรกแซงตลาดช้าเกินไป เนื่องจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นนั้นได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทไปแล้วก่อนหน้านี้

พนักงานของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์รายหนึ่ง กล่าวว่า ตนเองจะดีใจถ้ายอดขายที่อ่อนตัวลงก่อนหน้านี้นั้น ฟื้นตัวขึ้น บริษัทของเขามีพนักงานอยู่ 5 ราย มียอดขายที่ลดลงไปเหลือ 1 ใน 10 เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ขณะที่พนักงานอีกบริษัทก็กล่าวโทษว่า การที่ยอดขายของบริษัทลดลงนั้นเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่นหรือดีพีเจสามารถโค่นพรรคเสรีประชาธิปไตยขึ้นมาทำหน้าที่รัฐบาลได้ โดยพนักงานรายนี้มองว่า พรรคดีพีเจควรจะใช้มาตรการใหม่ๆ หากการเข้าไปแทรกแซงตลาดวันนี้ไม่ได้ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มากมายนักตามมา

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนมิ.ค. 2547 หลังจากที่เงินเยนดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ที่ 82 เยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์

หลังจากที่กระทรวงคลังและรัฐบาลญี่ปุ่นออกมาให้ข่าวว่า จะแทรกแซงตลาดหลายต่อหลายครั้ง และในที่สุดทางการก็เข้ามาขายเงินเยนหลังจากที่นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคดีพีเจต่อไปอีกวาระหนึ่ง หลังจากที่ได้ทำหน้าที่นายกฯมาเป็นเวลาได้ 3 เดือน

ทางด้านมาซาคัตสึ ทานากะ ประธานบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือสไตล์ตะวันตก กล่าวว่า รัฐบาลควรจะเข้ามาแทรกแซงตลาดก่อนหน้านี้ ทางด้านพนักงานของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายหนึ่งมองว่า การแทรกแซงตลาดตอนนี้ถือว่าเป็นการดำเนินการที่สายเกินไป สิ่งที่ญี่ปุ่นสามารถดำเนินการได้เองเพียงลำพังนั้นมีอยู่ไม่กี่อย่าง ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลใช้มาตรการเพิ่มเติมหากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยยอดขายต่อปีของบริษัทหดตัวลงไปประมาณ 1 พันล้านเยนหรือมากกว่านั้น หลังจากที่เงินดอลลาร์ร่วงลง

สำหรับประธานบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรรายหนึ่งมองว่า แม้ว่าการแทรกแซงตลาดจะช่วยพลิกฟื้นกำไรของบริษัทขนาดใหญ่ แต่ธุรกิจรายเล็กก็ไม่ได้อานิสงส์จากการแทรกแซงตลาดเสมอไป พร้อมกับกล่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นควรจะพิจารณาไม่เฉพาะแต่เรื่องการสกัดช่วงขาขึ้นของเงินเยน แต่ควรจะมองเรื่องเงินหยวนที่แข็งค่าด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ การส่งออกของญี่ปุ่นไปยังประเทศแถบเอเชียคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดการส่งออกของประเทศ


แท็ก ญี่ปุ่น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ