ผอ.เอดีบีไทย มองมาตรการสกัดเงินไหลเข้าแก้เงินเอเชียแข็งค่าไม่ได้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 28, 2010 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฌอง ปิแอร์ ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี)ประจำประเทศไทย เชื่อว่า สกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียยังเติบโตได้ดีและยังดึงดูดเงินลงทุนจากให้ไหลเข้ามาเพิ่มอีก แต่การใช้มาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้าจะไม่สามารถต้านได้ เพราะการเคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค และตลาดเงินทั่วโลกมีขนาดใหญ่มาก แต่กลับจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจด้านอื่น

อย่างไรก็ตาม ต้องสร้างความสมดุลเศรษฐกิจโลกและในประเทศ โดยต้องยอมให้ค่าเงินสะท้อนค่าที่แท้จริง ไม่ใช่ยอมให้แข็งค่าหรืออ่อนค่าไปข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งในที่สุดเงินทุนไหลเข้าเอเชียก็จะเกิดความสมดุล เพราะช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเงินไม่ได้ไหลเข้ามาเลย แต่ตอนนี้เศรษฐกิจดีขึ้นเงินก็ไหลเข้า

"ในช่วงข้างหน้าเศรษฐกิจเอเชียยังเติบโตได้ดี ยังดูดเงินทุนไหลเข้ามาอีก แต่(ค่าเงิน)ต้องไม่หวือหวา ไม่ใช่ผันผวน 10-20%ต่อวัน ที่ผ่านมาเงินสกุลภูมิภาคก็ค่อยๆ แข็งค่าขึ้น ไม่คิดว่าประเทศในเอเชียและไทยจะใช้มาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้า"นายปิแอร์ กล่าว

การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ช่วยทำให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง และแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อก็ลดลง ขณะที่ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้า ประกอบกับเงินทุนไหลเข้าเอเชียและไทยทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยตั้งแต่ก.ย. 52-ก.ย.53 เงินสกุลภูมิภาคแข็งค่าขึ้น 10-20% และเงินบาทแข็งค่า 10.7% ถือว่าเกาะกลุ่มภูมิภาค

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็ออกมาส่งสัญญาณว่าจะค่อยๆ ขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้น โดยตามทฤษฎีแล้วเมื่อดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบจะทำให้คนกู้เงินมาก และบางทีก็ไปซื้อสิ่งที่ไม่สมควร อาจก่อให้เกิดปัญหาฟองสบู่ได้ ดังนั้น มองว่าแบงก์กลางทำอะไรไม่ได้มากเรื่องดอกเบี้ย และจะต้องดูประเทศอื่นในภูมิภาคประกอบด้วย มิเช่นนั้นเงินทุนจะไหลเข้าประเทศเดียว

ส่วนความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย สิ่งสำคัญ ที่จะมากระทบคือ เศรษฐกิจโลก เพราะประเทศใหญ่ๆ มีการก่อหนี้สูงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ต้องมีการชำระหนี้จะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปไม่ได้ ซึ่งก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในประเทศ คือ ความไม่แน่นอนของการเมือง ตอนนี้บริหารจัดการได้ ผลกระทบแค่บางจุดของธุรกิจ เพราะเรามีบทเรียนผ่านมาแล้ว การเมืองทุกภาคส่วนน่าจะตระหนักเรื่องนี้ดี เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาการเมืองเกิดขึ้นอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ