In Focusเมื่อแอปเปิลพ่นพิษแบล็คเบอร์รี่…อาร์ไอเอ็ม จะอยู่หรือจะไป

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 25, 2012 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมรภูมิในตลาดสมาร์ทโฟนร้อนแรงมาโดยตลอด ล่าสุด บริษัท รีเสิร์ช อิน โมชัน (อาร์ไอเอ็ม) เจ้าของสมาร์ทโฟนชื่อดังอย่างแบล็คเบอร์รี่ก็ถูกหางเลขจากความแรงของตลาดเข้าให้แล้ว หลังจากที่แอปเปิลและสมาร์ทโฟนค่ายแอนดรอยด์โกยส่วนแบ่งตลาดอย่างไม่หยุดหย่อน ส่งผลให้ อาร์ไอเอ็มต้องเดินหน้าปรับโครงสร้างผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ด้วยการถอด จิม บาลซิลลี และไมค์ ลาซาริดิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ร่วมของอาร์ไอเอ็ม หลังจากที่ทำหน้าที่ผู้บริหารอาร์ไอเอ็มมานานถึง 20 ปี

อาร์ไอเอ็มต้องดึงธอร์สเตน ไฮน์ส อดีตผู้บริหารจากซีเมนต์ เอจี ซึ่งร่วมงานกับอาร์ไอเอ็มมาเป็นเวลา 4 ปีในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เข้ารับตำแหน่งซีอีโอของอาร์ไอเอ็ม แทนนายบาลซิลลีและนายลาซาริดิส

สื่อต่างประเทศมองว่า สาเหตุที่อาร์ไอเอ็มต้องพ่ายให้กับแอปเปิลนั้น มาจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเห็นว่า เจ้าของกิจการแบล็คเบอร์รี่ก้าวพลาด เนื่องจากความล่าช้าในการเปิดตัวระบบหรือบริการใหม่ๆ เช่น การเปิดตัวระบบใหม่ BB10 ที่ควรจะเปิดให้บริการไปตั้งนานแล้ว แต่ต้องหันมาเปิดให้บริการเอาในปีนี้ ส่งผลให้แอปเปิลและกูเกิ้ลโกยส่วนแบ่งตลาดไปอย่างจัดหนักจัดเต็มตั้งแต่ปีที่แล้ว กว่าจะเปิดตัว BB10 ได้ในปีนี้นั้น ดูเหมือนว่า จะเป็นเรื่องที่ไม่ทันกาล

นอกจากนี้ ความล่าช้าในการนำอีเมลเข้ามาบรรจุไว้ในแท็บเล็ตเพลย์บุ๊คก็จัดเข้าข่ายการตลาดที่ก้าวพลาดอีกครั้ง อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องเทคนิค ส่งผลให้ยอดจัดส่งเพลย์บุ๊คแทบจะไม่กระเตื้องเมื่อเปรียบเทียบกับไอแพด

รายงานของการ์ทเนอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยชื่อดังระบุว่า ส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกของอาร์ไอเอ็มหดตัวลงเหลือเพียง 11% ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2554 จากระดับ 15% ของปีก่อนหน้านั้น เนื่องจากผู้บริโภคหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ไอโฟน และโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ กาแล็กซี่ ของค่ายซัมซุง อิเลคโทรนิคส์

หุ้นของอาร์ไอเอ็ม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในแคนาดา ก็ร่วงลงมาเหลือ 11% ในช่วงไตรมาส 3 จากระดับ 15% เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากผู้บริโภคให้ความนิยมชมชอบในไอโฟน สมาร์ทโฟนที่ใช้ซอฟท์แวร์แอนดรอยด์ และสมาร์ทโฟนจากซัมซุง ขณะที่ยอดขายของบริษัทเมื่อไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ก็ร่วงลงไปประมาณ 6% แตะ 5.17 พันล้านดอลลาร์

ที่มาที่ไปของ “ธอร์สเตน ไฮน์ส"

ธอร์สเตน ไฮน์ส อดีตผู้บริหารจากซีเมนส์ เอจี ซึ่งร่วมงานกับอาร์ไอเอ็มมาเป็นเวลา 4 ปีในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ จะเข้ารับตำแหน่งซีอีโอของอาร์ไอเอ็ม แทนนายบาลซิลลีและนายลาซาริดิสในทันที นอกจากนี้ นางบาร์บารา สไตมิสท์ กรรมการของอาร์ไอเอ็ม จะเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการ เนื่องจากนายบาลซิลลีและนายลาซาริดิสได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการร่วมด้วย

ลาซาริดิส ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่สำหรับอาร์ไอเอ็ม แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่เราก็ทำดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ธอร์สเตน นับเป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยม เขามีทักษะที่ใช่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ธอร์สเตน ไฮน์ส ชาวเยอรมัน วัย 54 ปี ได้รับการเสนอชื่อให้ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการด้านผลิตภัณฑ์และการขายของอาร์ไอเอ็ม รวมทั้งดูแลเรื่องวิศวกรรม ฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์เมื่อเดือนก.ค. 2554 ในช่วงที่ไฮน์สทำงานอยู่ที่ซีเมนส์นั้น เขารับผิดชอบงานในตำแหน่งบริหารด้านวิจัยและพัฒนา บริการลูกค้า การขายไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเวลากว่า 20 ปี นักวิเคราะห์มองว่า แม้จะมีการดึงตัวนายไฮน์สเข้ามาทำหน้าที่ แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า เขาจะสามารถพลิกฟื้นริษัทให้กลับมาผงาดได้อีกครั้ง

เนื่องจาก ไฮน์ส เป็นผู้บริหารที่อยู่ภายใต้บังเหียนของจิม บาลซิลลี และนายไมค์ ลาซาริดิส มาก่อน ภารกิจที่ไฮน์ส จะต้องเผชิญต่อจากนี้ ไม่เพียงแต่ต่อกรกับแอปเปิลและค่ายแอนดรอยด์ภายใต้การนำของกูเกิ้ลเท่านั้น เขายังต้องรับมือกับการแข่งขันกับไมโครซอฟท์ คอร์ป ซึ่งจับมือกับบริษัทเครือข่ายเอที แอนด์ ที และโนเกีย รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อชิงความเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟน

ก้าวต่อไปของอาร์ไอเอ็ม

ไฮน์ส กล่าวว่า เป้าหมายหลักของเขาก็คือ การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ในการทำตลาดในสหรัฐ นอกจากนี้ เรายังจำเป็นต้องพุ่งเป้าไปที่ตลาดและผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยเขาจะแต่งตั้งผู้บริหารด้านการตลาดคนใหม่ในเร็วๆนี้ ตลอดจนปรับปรุงเรื่องการดำเนินงาน เพื่อให้การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเป็นไปตามกำหนดการณ์ การเอ่ยถึงเรื่องการปรับปรุงการทำงานนี้ นับเป็นอีกจุดที่น่าจับตา หลังจากที่บริษัทเปิดตัวบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าช้าไปอย่างน่าเสียดาย เดิมทีอาร์ไอเอ็มมีแผนที่จะเปิดตัวแพลตฟอร์มรุ่นใหม่หรือ BlackBerry OS 10 ซึ่งถือเป็นหมัดเด็ดที่ทางบริษัทหมายมั่นปั้นมือว่า จะพลิกฟื้นกิจการให้ได้ในปีที่แล้ว แต่แพลตฟอร์มตัวใหม่นี้ก็ถูกลากยาวมาจนถึงปีนี้เข้าจนได้ แถมยังมีแนวโน้มว่า จะไม่สามารถเปิดให้ใช้งานได้จนกว่าจะถึงช่วงปลายปี 2555 เนื่องจากบริษัทต้องรอให้มีการพัฒนาชิปเซ็ทพิเศษสำหรับอุปกรณ์ตัวใหม่

ระบบปฏิบัติการ BlackBerry 7 ก็เป็นอีกตัวอย่างของความล่าช้าที่กว่าจะเปิดตัวได้ก็เลยกำหนดไปเป็นเวลาหลายเดือนมาก่อนที่จะเกิดเหตุล่าช้าซ้ำสองกับแพลตฟอร์มตัวใหม่ล่าสุด

ทั้งนี้ เจนนิเฟอร์ ฟริทซ์ นักวิเคราะห์ของเวลส์ ฟาร์โก แอนด์ โค ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า การเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่นั้นถือเป็นกุญแจสำคัญ และซอฟท์แวร์ใหม่ก็จะเป็นอีกปัจจัยบ่งชี้ว่า บริษัทจะอยู่หรือจะไป

สำหรับเสียงเรียกร้องให้อาร์ไอเอ็มไฟเขียวบริษัทคู่แข่งใช้ซอฟท์แวร์ของบริษัทนั้น ไฮน์ส กล่าวว่า เขาพร้อมที่จะหารือในเรื่องเหล่านี้ แต่ประเด็นนี้ไม่ใช่เป้าหมายหลักของเขา

การเดินทางเข้าสู่ยุคแห่งการเดินหน้าไปสู่ระบบปฏิบัติการตัวใหม่นั้น ซีอีโอคนใหม่กล่าวว่า ระบบปฏิบัติการใหม่นี้จะช่วยให้บริษัทสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและดึงกลุ่มลูกค้าที่เสียไปกลับคืนมา

Blackberry 10 ระบบปฏิบัติการแห่งความหวัง

ที่ผ่านมา บริษัทได้ใช้ทีมพัฒนาชุดใหม่เกือบทั้งหมด เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการ BB10 เพื่อต่อยอดระบบปฏิบัติการ QNX ที่โด่งดัง อาร์ไอเอ็มได้เริ่มใช้ QNX ครั้งแรกในเพลย์บุ๊ค ซึ่งสื่อมองว่า เสถียรภาพ ความคล่องตัว ความง่ายในการต่อยอด และพัฒนาของระบบ QNX ที่ใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆ สมองกลของรถยนต์ทั่วโลก ทำให้อาร์ไอเอ็มตัดสินใจเดินหน้าโครงการนำร่องใช้ QNX บนเพลย์บุ๊ค และตัดสินใจนำมาพัฒนาต่อเพื่อใช้งานบนสมาร์ทโฟน

อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปีนี้ อาร์ไอเอ็มคงทำได้เพียงแค่การเปิดตัว Blackberry 10 ที่งานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ที่จะจัดขึ้นในเดือนก.พ.นี้ แต่กว่าจะใช้งานได้จริงบนสมาร์ทโฟนนั้น คงต้องรอจนถึงช่วงประมาณปลายปี

หลายแง่มุมจากเหล่านักวิเคราะห์

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบริษัทที่เคยอยู่แนวหน้าในตลาดสมาร์ทโฟนมาก่อนนี้ เหล่านักวิเคราะห์และสื่อต่างวิเคราะห์กันหลากหลายแง่มุม สื่อต่างประเทศคาดการณ์ว่า มูลค่าของอาร์ไอเอ็มที่ลดลงจะนำไปสู่การเทคโอเวอร์กิจการในที่สุด แม้ว่าตัวบริษัทเองจะไม่ได้พิจารณาเรื่องการขายกิจการเลยก็ตาม ทางด้านกลุ่มผู้ถือหุ้นอาร์ไอเอ็มบางส่วนก็อยากให้มีการขายกิจการหรือไม่ก็แตกบริษัท หลังจากที่ราคาหุ้นร่วงหนัก 75% ในปีที่แล้ว เนื่องจากยอดขายที่ซบเซาและข้อผิดพลาดทางเทคนิคที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริหารหลายล้านคน

สำหรับบริษัทที่มีชื่ออยู่ในข่าวลือว่า สนใจที่จะเทคโอเวอร์อาร์ไอเอ็มก็มีทั้งไมโครซอฟท์ โนเกีย และอะเมซอนดอทคอม

ขณะที่ อิททาอิ คิดรอน นักวิเคราะห์จากอ็อพเพนไฮเมอร์ แอนด์ โค กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อแนวทางการดำเนินงานของบริษัทมากนัก เพราะผู้บริหารที่ถูกเปลี่ยนตำแหน่งนั้นก็ยังคงมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการอยู่ ดังนั้น อิทธิพลของพวกเขาจึงยังคงมีอยู่ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ จะทำให้การเปลี่ยนแปลงใดๆภายใต้แนวคิดของไฮน์สเป็นเรื่องยาก หากไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารรุ่นก่อน

นักวิเคราะห์กลุ่มอื่นๆถึงตั้งความหวังว่า บริษัทจะดึงคนนอกเข้ามา เพื่อนำเสนอไอเดียใหม่ๆ เพระการที่อดีตซีอีโอทั้ง 2 รายยังคงมีตำแหน่งอยู่ในบอร์ดนั้น ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณกลายๆว่า นโยบายหรือแนวคิดที่มีมาแต่เดิมนั้น จะยังคงมีอิทธิพลอยู่ต่อไป

เควิน สมิทเทน นักวิเคราะห์จากแมคควอรี แคปิตอล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของจิมและไมค์นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ตลาดพึงพอใจ แต่การที่บริษัทไม่มีซีอีโอที่มีคุณภาพ หรืออย่างน้อยก็มีประธานที่เป็นคนนอกนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง

นักวิเคราะห์อีกรายก็มองในมุมเดียวกันในประเด็นที่ว่า เมื่อมองจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา การตั้งคนนอกมาช่วยบริหารนั้นเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้บริษัทฟื้นตัวขึ้นมาได้ การพลิกฟื้นกิจการอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้ระบบการผลิตแบบ OEM โดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงทีมผู้บริหารนั้น แทบจะเป็นเรื่องที่ไม่เคยประสบความสำเร็จเลยสักครั้ง

อาร์ไอเอ็มจะปั้นแบล็คเบอร์รี่ให้กลับมาผงาดได้อีกครั้งหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม และคงต้องให้เวลา ธอร์สเตน ไฮน์ส อีกสักพัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ