IN FOCUS: "ไอโฟน ฟีเวอร์"...แอปเปิลเดินหมากรุกฆาตสะท้านยุทธจักรมือถือ

ข่าวต่างประเทศ Friday July 25, 2008 13:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สมรภูมิรบในธุรกิจมือถือกำลังสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น แม้ในยามที่เศรษฐกิจตกอยู่ในภวังค์แห่งฝันร้าย จากการเคลื่อนไหวของบริษัท "แอปเปิล อิงค์" (Apple Inc.) ยักษ์ใหญ่ที่อาจปลุกสงครามไร้สายให้ลุกเป็นไฟอีกครั้ง ขณะที่เซียนผู้เจนสนามบางบริษัทยังไม่กล้างัดวิชามาต่อกร เพราะลำพังแค่จะประคับประคองตัวเองให้รอดพ้นจากมรสุมเศรษฐกิจยังยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา การที่จะอาจหาญมาประลองยุทธ์ได้นั้นต้องมั่นใจว่า "ของ" ที่ปล่อยออกมามีโอกาส "โดน" มากกว่า "ดับ" เหมือนกับที่ "แอปเปิล อิงค์"กำลังฮึกเหิมอยู่ในขณะนี้
ท่ามกลางสายตาของบริษัทชื่อดังระดับโลกนั้น "แอปเปิล" ถูกมองว่าเป็นศัตรูผู้น่าเกรงขามทั้งในสนามรบทางไอที ดนตรี และมือถือ หากแต่ในสายตาของผู้บริโภคกลับมองว่า "แอปเปิล" เปรียบเสมือนสวนผลไม้ที่เขียวชอุ่มและอุดมด้วยพืชผลที่พวกเขาสามารถเก็บกินได้อย่างไม่มีวันเบื่อ ผิดกับสวนอื่นๆที่นับวันมีแต่จะซีดเซียว แห้งเหี่ยว และโรยรา
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า "แอปเปิล" เป็นบริษัทที่เติบโตโดดเด่นสวนกระแสเศรษฐกิจ จากบทพิสูจน์เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ "ไอโฟนฟีเวอร์" ระบาดหนักในหลายประเทศทั่วโลก เมื่อบรรดาสาวกต่างแห่แหนเข้าคิวเพื่อรอการเป็นเจ้าของ "ไอโฟน 3G" ที่ได้ฤกษ์เปิดขายอย่างเป็นทางการในวันแรก
จริงหรือ...ที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยามที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในห้วงวิกฤต หรือนี่จะเป็นการ "ร่ายเวทมนตร์" ของพ่อมดนามว่า "สตีฟ จอบส์" ผู้ครองอาณาจักรแอปเปิลที่เปรียบเสมือนผู้วางหมากบนสมรภูมิรบและมักปล่อยกระบวนยุทธ์ออกมาพลิกโฉมหน้าวงการธุรกิจ ชนิดที่คู่แข่งหลายสำนักอาจต้องยอมก้มหัวให้
กว่า 20 บรรทัดนับจากนี้ไป คือเส้นทางการเติบใหญ่ที่ทำให้ "แอปเปิล" เดินหมากได้อย่างอหังการมาจนถึงปัจจุบัน
ปี 1984 คือ "ก้าวแรก" ที่แอปเปิลเริ่มเปิดศึกเดินหมากในตลาดไอที ด้วยการคลอดคอมพิวเตอร์ "แมคอินทอช" (Mac) ที่เปรียบเสมือนลูกคนโตผู้คอยเป็นหน้าเป็นตาให้แอปเปิลสามารถยืดอกได้อย่างไม่อายใคร และทายาทคนนี้เองที่เป็นหัวหอกในการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ภายใต้แนวคิดแหกคอกที่ว่า คอมพิวเตอร์ไม่ควรเป็นเพียงเครื่องมือการทำงาน แต่ควรเป็นอุปกรณ์ที่ผสมผสานประโยชน์ของฟังก์ชั่น ศิลปะ และการออกแบบเข้าไว้ด้วยกัน และผลจากการประคมประหงมลูกคนโตก็ไม่เสียแรงเปล่า เพราะบารมีของ "แมคอินทอช" ช่วยผลักดันให้แอปเปิลประกาศศักดาและแจ้งเกิดทั้งบนสมรภูมิไอทีและวงการออกแบบได้อย่างสวยสดงดงาม
ปี 2001 คือ "ก้าวต่อมา" ที่แอปเปิลต่อยอดวิทยายุทธ์ทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมล้ำสมัยด้วยการเบ่งลูกคนรองพร้อมตั้งชื่อเก๋ไก๋ว่า "ไอพอด" (iPod) อุปกรณ์เครื่องเล่นเพลงแบบพกพา (MP3) ที่สะท้อนรูปแบบการดีไซน์สไตล์มินิมอลลิสม์ (Minimalism) อันปรากฎให้เห็นในรูปทรงสี่เหลี่ยมพร้อมมุมมนสีขาว เทา ดำ และสีสันจัดจ้านโดนใจด้วยพื้นผิวเรียบเนียน พร้อมปุ่มบังคับแบบดิสก์และอินเตอร์เฟสประเภท "หมุนแล้วคลิก" ที่ลงตัว และการออกแบบที่ "เรียบ ง่าย แต่ได้ใจ" นี่เอง ทำให้ "ไอพอด" เข้าไปนั่งอยู่ในใจของหนุ่มสาวรุ่นใหม่พร้อมดูดเงินในกระเป๋าของพวกเขาออกมาได้อย่างแนบเนียน กูรูตลาดเพลงดิจิตอลมองว่าช่วงเวลานี้เองคือยุคทองของ "ไอพอด" ที่ไม่เพียงแค่สร้างความฮือฮาให้กับตลาดเพลงดิจิตอลเท่านั้น หากแต่ชื่อของลูกคนรองนี้อาจจะกลายเป็นชื่อเรียกของเครื่องเล่นเพลง MP3 เหมือนกับเครื่องถ่ายเอกสารที่เรามักเรียกกันติดปากว่า "ซีร็อกซ์" ก็เป็นได้
ปี 2007 คือ "ก้าวกระโดด" ที่แอปเปิลเดินหมากรุกฆาตตลาดสมาร์ทโฟนด้วยการพัฒนามือถืออัจฉริยะ "ไอโฟน" (iPhone) ให้กลายเป็นอุปกรณ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งยุคสมัย ด้วยความหวังว่า "ไอโฟน" จะเจริญรอยตามไอพอดที่ตีตลาดในทุกมุมโลกได้สำเร็จ มิหนำซ้ำแอปเปิลยังมองไปไกลด้วยว่า ลูกคนใหม่ที่ปลุกปั้นออกมานี้จะเข้าตาลูกค้าในตลาดองค์กรได้ไม่ยากนัก หากแต่ในมุมมองของนักวิเคราะห์ที่ซุ่มดูความเคลื่อนไหวในตลาดกลับเห็นว่า แอปเปิลอาจหันกระบอกปืนผิดทิศ เพราะตลาดองค์กรคือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ไมโครซอฟท์ไม่ยอมมอบให้ใครง่ายๆ
ปี 2008 หลังจากไอโฟนรุ่นแรก ซึ่งมีศักดิ์เป็นแฝดผู้พี่ลืมตาดูโลกได้ครบ 1 ขวบปี แอปเปิลก็เร่งปั๊มแฝดผู้น้องอย่าง "ไอโฟน 3G" ให้คลานตามกันมาติดๆชนิดไม่ปล่อยให้ "มิตรรักแฟนไอโฟน" รอคอยกันเนิ่นนาน และผลตอบรับก็เป็นไปตามคาด ทางสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า แฟนๆไอโฟนในแดนปลาดิบต่างหอบหมอนหอบเสื่อมาตั้งแคมป์นอนรอที่หน้าร้านซอฟท์แบงค์ เพื่อเฝ้ารอการเปิดขาย "ไอโฟน 3G" อย่างเป็นทางการเพียงหวังจะได้ครอบครองมือถืออัจริยะรุ่นล่าก่อนใครเพื่อน หนึ่งในนั้นคือ ฮิโรยูกิ ซาโน่ นักศึกษาจากนาโกย่าที่ขออนุญาตอาจารย์หยุดเรียน 2-3 วัน เพื่อมาเข้าคิวซื้อไอโฟน 3G เป็นของขวัญฉลองวันเกิดครบเบญจเพสของตัวเองถึงโตเกียวเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา
นอกเหนือจากความโดดเด่นด้านการออกแบบและคุณสมบัติของ "ไอโฟน 3G" ที่เหนือชั้นกว่าแฝดผู้พี่ในการรองรับเครือข่าย 3G ที่เอื้อต่อการใช้งานดาวน์โหลดเร็วกว่าเกือบ 3 เท่าแล้ว ระบบอัจฉริยะในการแสดงตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) ก็เป็นอีกหนึ่งไม้ตายที่ไอโฟนรุ่นนี้มีอยู่ในตัว แต่สิ่งที่แอปเปิลใช้เป็นอาวุธสำคัญ คือ การหั่นราคาไอโฟนชนิดที่เรียกว่ากล้าท้าชนและไม่เกรงกลัวบารมีของยักษ์มือถืออย่าง "โนเกีย" เลยแม้แต่น้อย ทั้งนี้ "สตีฟ จอบส์" ประกาศเคาะราคา "ไอโฟน 3G" หน่วยความจำ 8GB มาอยู่ที่ 199 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนรุ่น 16 GB สนนราคาอยู่ที่ 299 ดอลลาร์สหรัฐ จากจุดนี้เองทำให้นักวิเคราะห์มองว่า ความอหังการของแอปเปิลอาจสร้างปรากฏการณ์ "iPhone Effect" ที่จะทำให้โนเกียนั่งไม่ติดที่
ดอกผลที่เบ่งบานในสวน "แอปเปิล" อันกลั่นกรองมาจากความคิดที่สุกงอมของ "สตีฟ จอบส์" กำลังส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศและยังลอยละล่องไปติด 1 ใน "50 สุดยอดบริษัทผลงานเยี่ยมแห่งปี 2008" จากการจัดอันดับของนิตยสารบิสิเนสวีค ขณะที่นิตยสารออนไลน์ branchannel.com ได้สดุดีให้แอปเปิลเป็นแบรนด์ทรงอิทธิพลแห่งยุค เช่นเดียวกับนิตยสารฟอร์จูนที่มอบตำแหน่ง "บริษัทที่ได้รับความนิยมมากสุดในใจชาวอเมริกัน" (America"s Most Admired Companies 2008) ให้แอปเปิลไปครองแบบไร้ข้อกังขา
โลกทุกวันนี้ที่มีแต่จะหมุนเร็วขึ้นนั้นอาจมิใช่คำกล่าวเกินจริง หากแต่โลกธุรกิจที่หมุนเร็วกว่าอาจเกิดอาการกระตุกและบางครั้งอาจถึงกับหยุดหมุนเพียงเพราะหันมาดูการ "ร่ายมนตร์" ของพ่อมด "สตีฟ จอบส์" ผู้ทรงอิทธิพลในยุคที่โลกธุรกิจใช้ความคิดเป็นอาวุธเข้าห้ำหั่นฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแน่นอนว่า ในยามนี้ การควงคทาเสกคาถา "แอปเปิลอาบยาพิษ"ลูกใหม่ อาจทำให้บริษัทกลายเป็นคู่ต่อกรที่บรรดายักษ์มือถือทั่วพิภพต้องคอยจับจ้องแบบมิให้คลาดสายตาแม้เพียงเสี้ยววินาที

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ