ไอซีบีซี ตั้งเป้า ICBCT ปี 54 ปล่อยสินเชื่อ-ออกบัตรเครดิตสกุลหยวนในไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 3, 2010 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจียง เจี้ยนชิน ประธานกรรมการ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) จากประเทศจีน กล่าวว่า มีเป้าหมายในปี 54 จะผลักดันให้ธนาคารไอซีบีซี(ไทย)(ICBCT)สามารถปล่อยสินเชื่อเป็นเงินหยวนในประเทศไทย รวมทั้งเปิดให้บริการบัตรเครดิตทั้งสกุลเงินหยวน พร้อมไปกับสกุลเงินบาทในประเทศไทย

ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อสกุลเงินหยวนจะช่วยลดตุ้นทุนความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการค้าขายในสกุลเงินดอลลาร์ มีภาระมากในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้าน มีการซื้อขายเป็นเงินหยวนเป็นวงเงิน 4.6 หมื่นล้านหยวน ซึ่งหากการซื้อขายสินค้าในจีนเป็นเงินหยวนจะช่วยลดต้นทุน และที่ผ่านมาในประเทศมาเลเซียในการปล่อยสินเชื่อเป็นเงินหยวนมาแล้ว

ธนาคารพร้อมปล่อยสินเชื่อเป็นสกุลเงินหยวนในประเทศไทย โดยวงเงินขึ้นกับผู้ขอสินเชื่อที่สามารถเลือกขอสินเชื่อเป็นเงินหยวน และเงินบาทของไทย ทั้งนี้ต้องการใช้ความได้เปรียบของเงินหยวน ซึ่งจะช่วยผลักดันการใช้เงินสกุลหยวนในภูมิภาค

นายเจียง กล่าวว่า ขอให้ภาคธุรกิจในไทยให้ความเชื่อมั่นการใช้บริการของไอซีบีซี ซึ่งธนาคารมั่นใจและจะให้บริการอย่างรอบด้าน ซึ่งเศรษฐกิโลกขณะนี้มีการฟื้นตัวช้าและไม่แน่นอน ขณะที่ระบบการเงินของโลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเศรษฐกิจโลกกำลังย้ายมาอยู่ทางประเทศซีกตะวันออก

และคาดว่าในปี 58 กำลังซื้อในเอเชีย จะเทียบเท่า ยุโรป หรือ สหรัฐ และภายใน 10 ปี ตลาดการเงินเอเชียจะใหญ่ที่สุดในโลกการแข่งขันจะกว้างขวางขึ้น

นายกรณ์ จาติวกณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ในการหารือกับประธานธนาคารไอซีบีซีของจีน ได้ให้ความสนใจสนับสนุนโครงการสาธารณูโภค โดยเฉพาะโครงการที่รัฐบาลจีนเข้ามามีส่วนแกี่ยวข้องให้ความร่วมมือกับประเทศไทย เช่น โครงการการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย

ขณะที่นายเจียง ยังกล่าวอีกว่า ธนาคารให้ความสนใจและพร้อมเข้าซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการกับสถาบันการเงินอื่นในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไอซีบีซี ยังไม่มีการตั้งสาขาธนาคาร เนื่องจากธนาคารให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคนี้

อนึ่ง กลุ่มไอซีบีซีได้เข้าซื้อธนาคารสินเอเชีย (ACL) และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไอซีบีซี(ไทย) (ICBCT) เนื่องจากมีความมั่นใจของไทยที่มีศักยภาพที่สุดในกลุ่มอาเซียน และ การก่อตั้ง ICBCT จะเป็นปัจจัยสำคัญเพิ่มข่องทางการค้า การขยายการค้าในลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนเครือข่ายภูมิภาคทั่วโลกให้สมบูรณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ