INSIGHT: ก้าวใหม่ตลาดหลักทรัพย์สร้างความแข็งกร่ง Platform-วางกลยุทธการตลาด Customize

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 11, 2011 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"ภากร ปีตะธวัชชัย"รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)วางกลยุทธสร้าง Platform ที่แข็งแกร่งเป็นฐานรองรับการขยายตัวระบบซื้อขาย เน้นการทำตลาดภายใต้ customize เดินหน้าจับมือพันธมิตรพัฒนาบริการและให้ความรู้นักลงทุน เปิดกว้างประตูการลงทุน พร้อมกับการเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ เน้นการสร้าง platform รูปแบบต่าง ๆ เป็นฐานเพื่อขยายสินค้าและบริการ รวมทั้งให้ความสำคัญกับลูกค้าทุกกลุ่มที่จะให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วและทำให้ต้นทุนการลงทุนต่ำลง เพื่อเพิ่มจำนวนนักลงทุนในตลาดทุนไทยมากขึ้น

ตลท.ตั้งเป้าปี 54 ผลักดันเกิด Thai Depositary Receipt(TDR)รวมทั้ง Cross listing และ Dual listing ขยายช่องทางการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศให้น่าสนใจและง่ายขึ้น โดยเฉพาะหุ้นในสหรัฐและจีน ขณะเดียวกันดึงนักลงทุนต่างชาติตั้งกองทุน ETF คาดเม.ย.54 จะจดทะเบียน 2 กองในตลาดหุ้นญี่ปุ่น และคาดหวังจะมีกองทุน ETF สัญชาติญี่ปุ่นเข้าจดทะเบียนตลาดหุ้นไทย

*เร่งผลักดัน TDR-Crosslisting-Duallisting เกิดในปี 54

รองผู้จัดการ สายงานการตลาด ตลท.กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์กำลังศึกษาการออก Thai Depositary Receipt(TDR)เพื่อช่วยให้นักลงทุนไทยสามารถเข้าลงทุนหุ้นในตลาดต่างประเทศได้โดยไม่ต้องเสียต้นทุนมากและมีความสะดวก โดยให้โบรกเกอร์และธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออก TDR รวมถึงเรื่อง Crosslisting และ Duallisting ที่ทั้งหมดเป็นเรื่องใกล้เคียงกัน โดยหากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทราพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เข้าใจและมีกฎเกณฑ์รองรับแล้วก็สามารถดำเนินการไปด้วยกันได้

"เราพยายามผลักดันให้เร็วที่สุด เราหวังว่าในปี 54 น่าจะเกิด TDR, Crosslisting และ Duallisting ได้ ซึ่งทำขนานกันไป โดย TDR เรามองหุ้นทั่วโลก เป็นหุ้นที่ลูกค้าสนใจมาก คือที่อเมริกาและจีน นอกจากนี้ หุ้นธนาคารในสหรัฐก็มีความสนใจมากเพราะราคาหุ้นธนาคารเหล่านี้ลงไปมาก...อย่างถ้ามี TDR ก.ล.ต.เข้าใจ ผมว่า Cross listing หรือ Dual listing ง่าย หรือเข้าใจ Cross listing หรือ Dual listing ก่อน TDR ก็ง่าย"นายภากร กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ปัจจุบัน หากนักลงทุนไทยต้องการไปลงทุนในสหรัฐ ยกตัวอย่างเช่นจะไปซื้อหุ้น Google, หุ้น Microsoft ก็ต้องผ่านโบรกเกอร์ที่ให้บริการลงทุนหุ้นต่างประเทศที่มีอยู่ 7 แห่ง และมีต้นทุนค่อนข้างสูง แต่หากเปิดให้โบรกเกอร์ในไทยสามารถซื้อหุ้นในต่างประเทศแล้วมาฝากไว้คัสโตเดียนแล้วนำขายในรูปตราสารหรือ TDR จะทำให้ต้นทุนการซื้อขายถูกลง โดยการทำ TDR เกือบจะเหมือน Dual listing หรือ Cross listing ตรงนี้จะเป็นสินค้าใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์อยากมี

หากมองต่อไปถึงหุ้นบริษัทลูกของบริษัทจดทะเบียนของไทย เช่น บริษัทลูกของ บมจ.บ้านปู (BANPU)ที่ไปจดทะเบียนในอินโดนีเซีย หรืออย่างซีพี ที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง เหล่านี้สามารถมาออกเป็น TDR ได้

"ถ้ามันชื่อ TDR ไม่ว่าจะเป็นหุ้นอะไร TDR Google, TDR Apple นั่นคือสิ่งที่ผมเรียกว่า Platform ก็คือ Product Program คือ ถ้าออกแล้วคนรู้จัก ต่อไปออกได้เต็ม...ETF ก็เหมือนกันก็เป็น Product Platform ไม่ว่าจะเป็นกองทุน ETF บนน้ำมัน น้ำตาล"

"ตลาดควรให้ความสำคัญกับการสร้าง Platform Program สำหรับการเติบโตของสินค้าอย่าไปสนใจว่าทุกปีเรามี product ใหม่อะไร แต่ว่าเราควรจะสนใจมากกว่า Platform Program ว่ามัน serve ของที่จะมีในอนาคตได้แล้วหรือยัง"รองผู้จัดการ สายงานการตลาด ตลท. กล่าว

*คาดราว เม.ย.54 ญี่ปุ่นตั้ง ETF 2 กองจดทะเบียนในตลาดญี่ปุ่น

นายภากร ยังกล่าวถึงไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นเมื่อปลายปีก่อนว่า ขณะนี้คาดว่าจะมีการจัดตั้งกองทุน ETF ในเดือนแรกของไตรมาส 2/54 หรือประมาณ เม.ย.54 ซึ่งจะเป็นกองทุน ETF ที่จะจดทะเบียนในญี่ปุ่น

และตลาดหลักทรัพย์หวังว่าจะมี กองทุน ETF มาจดทะเบียนในไทยด้วย ซึ่งเท่าที่ได้คุยกับหลายแห่งอาจเป็นไปได้ว่า กลุ่มรถยนต์ในญี่ปุนตั้งเป็นกองทุน ETF มาจดทะเบียนในไทย ซึ่งเป็นกิจการที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีอยู่แล้ว หากเข้ามาเทรดในตลาดหุ้นไทยก็เชื่อว่าจะประสบผลสำเร็จได้ หรืออาจจะมี Crosslisting หรือ Duallisting ในไทยบ้าง

*เน้นให้ความสำคัญความต้องการลูกค้ารายกลุ่ม,จัดหาช่องทางนักลงทุนเข้าถึงสะดวก-ต้นทุนถูก

นายภากร กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ให้ความสำคัญลูกค้าแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการหลากหลายแตกต่างไป และต้องให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และต้นทนถูกลง

"Product ที่มีดีอยู่แล้ว ผมกลับมาเน้นว่าจะทำอย่างไร ให้ลูกค้าโดยตรงคือ โบรเกอร์ หรือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) หรือลูกค้าทางอ้อมก็คือรายย่อย หรือลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ สามารถใช้ช่องทาง ที่มีประสิทธิภาพ เร็วขึ้นและราคาถูกลง ผมมองเป็น market segment เป็นหลัก ซึ่งเราต้อง focus มากขึ้น" นายภากร กล่าว

นายภากร กล่าวว่า การดูแลลูกค้าในแต่ละกลุ่มจะต้องมีความแตกต่างกันในแต่ละลักษณะและความต้องการของลูกค้า ตัวอย่างเช่น กลุ่มโบรกเกอร์ มีทั้งโบรกเกอร์ที่มีบริษัทแม่ในต่างประเทศ และ โบรกเกอร์ที่ไม่มีบริษัทแม่

หากเป็นโบรกเกอร์ที่มีบริษัทแม่อยู่ในต่างประเทศ เราจะให้โปรแกรมที่บริษัทแม่ดูลูกค้า และโอนลูกค้าให้โบรกเกอร์ได้ ซึ่งเราจะช่วยผลักดันผ่าน ก.ล.ต. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ส่วนโบรกเกอร์ที่ไม่มีบริษัทแม่ เราจะเน้นเรื่องออนไลน์ จะบริการออนไลน์ผูกโบรกเกอร์ที่มีบริษัทแม่ในต่างประเทศ หรือผูกกับธนาคารใดธนาคารหนึ่ง หรือ กองทุนรวม ใดกองทุนหนึ่ง ที่จะเป็น payment gateway

ตลาดหลักทรัพย์จะการความร่วมมือในลักษณะพันธมิตร โดยจะเข้าไปสนับสนุนหรือร่วมมือกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ได้แก่ การร่วมกับบลจ.ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ได้เสนอให้ข้อมูลทุกกองทุนรวมกับนักลงทุนผ่านเวบไซต์ Morning star Thailand.com ก่อนตัดสินใจลงทุน และติดตามหลังการลงทุนได้ ให้ข้อมูลทั้งในอดีตและปัจจุบัน สามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนแต่ละกองทุน และ สามารถลงทะเบียนในเวบไซต์ดังกล่าว โดยนักลงทุนสามารถเรียกข้อมูลกองทุนที่ตัวเองลงทุนได้ว่าราคาอยู่ที่เท่าไร เสมือนเป็นสมุดบัญชี ขณะนี้เริ่มแล้วและปีหน้าจะมีการโปรโมทเวบไซด์นี้ให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับ บล.บัวหลวง ที่มีโปรแกรม "I—excel"เป็น Platform ที่สามารถเข้าทดลองเล่นหุ้น หรือเทรดจริงได้ โดยมีการตั้งสมมติฐานทั้งปัจจัยต่างๆทั้งกฎเกณฑ์ และความเสี่ยง รวมถึงสามารถตั้งโปรแกรมให้เตือนหากราคาปรับขึ้นหรือลงตามที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จะมีการโปรโมทเพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น จัดให้มีการแข่งขันภายใต้การใช้งานโปรแกรมดังกล่าว

และยังมีโปรแกรม Trader ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดในรูปแบบคล้ายกับการสัมมนาให้ความรู้ และแจกโปรแกรมให้ดาวน์โหลด เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์หุ้น และโปรโมทให้นักลงทุนเข้ามาใช้โปรแกรมนี้

ส่วนกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เข้ามาลงทุนอยู่แล้ว แต่ช่องทางของตลาดหุ้นไทยังไม่สะดวก ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพให้เร็วสะดวกและถูก โดยที่การดูแลตามกฎเณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่หละหลวม

นักลงทุนที่เคยลงทุนในไทย ซึ่งผ่านการโรดโชว์ที่ตลาดหลักทรัพย์ที่ลอนดอนและโตเกียว ซึ่งปกติต้องไปอยู่แล้ว แต่ตลาดหลักทรัพย์ต้องการหากกลุ่มนักลงทุนใหม่ เช่น จีน ตะวันออกกลาง กลุ่มเงินจากแอฟริกา ซึ่งตลาดจะต้องเพิ่มจุดโรดโชว์ขยายจากตลาดเดิมๆที่เคยไป เช่น แคนาดา หรือ ประเทศเอเชียที่รู้จักประเทศไทยดีอยู่แล้ว เพราะขณะนี้แหล่งเงินกระจายไปมากในโลก

นายภากร ยอมรับว่าโจทย์ที่ยาก คือ ลูกค้ารายย่อยที่ยังไม่เข้ามาในตลาดหุ้น ถ้าเท่าที่ดูนักลงทุนรายย่อยที่ active มีประมาณ 3-4 หมื่นบัญชีเท่านั้น ในขณะที่บัญชีเงินฝากมีเป็น 10 ล้านบัญชี หากดึงเข้ามาเพียง 1 แสนบัญชีก็จะทำให้ตลาดคึกคักขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ผู้ฝากเงินรับทราบข้อมูลการลงทุนและเกิด awarness เพราะเชื่อว่านักลงทุนทุกคนอยากได้ข้อมูล รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาพื้นฐานให้กับตัวกลาง เช่น กองทุนรวม หรือโบรกเกอร์ เพื่อให้รายย่อยเข้ามาได้ง่าย

"เราต้องการให้รายย่อยเข้ามา ทั้งในการลงทุนโดยตรงเอง หรือจะลงทุนผ่านกองทุนรวม แต่ความจริง ต้องการให้การลงทุนผ่านกองทุนรวมขยายตัวใหญ่ขึ้น โดยข้อมูลปัจจุบัน นักลงทุนรายย่อยที่เข้าลงทุนเองคิดเป็นสัดส่วน 60% ก็ถือว่ามาก แต่ถ้าผ่านกองทุนรวมจะช่วยลดความเสี่ยง และมีคนช่วยดู"รองผู้จัดการ สายงานการตลาด ตลท. กล่าว

นายภากร กล่าวในที่สุดว่า สินค้าปัจจุบันที่ตลาดมีนั้นดีอยู่แล้ว เพียงแต่สร้างการรับรู้(awareness), education , สร้าง platform โดยปรับปรุงให้นักลงทุนเข้าใจเข้าถึง โดยไม่จำเป็นต้องออก product ทุกปี ขอให้ product ดี ซึ่งดีกว่า หรือจะออกปีเว้นปีก็ได้ ลูกค้าจะได้มีเวลาศึกษา product ใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ