ทริสฯ ลดเครดิตองค์กร SST เป็น "BBB-" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 18, 2011 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ทรัพย์ศรีไทย (SST) เป็นระดับ “BBB-" จากเดิมที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเสี่ยงทางด้านธุรกิจและการเงินที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากบริษัทขยายการดำเนินงานสู่ธุรกิจถั่วเหลืองโดยการซื้อหุ้นของ บริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด

ทั้งนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งยังคำนึงถึงการมีประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจคลังสินค้า ตลอดจนการมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากธุรกิจคลังเอกสารด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่ารายได้ค่าบริการที่ค่อนข้างสม่ำเสมอจากธุรกิจคลังสินค้าและคลังเอกสารจะช่วยบรรเทาความผันผวนของรายได้จากธุรกิจถั่วเหลืองให้แก่บริษัท ทั้งนี้ ความต้องการกากถั่วเหลืองและน้ำมันถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้นและตราสินค้า “ทิพ" ที่เป็นที่รู้จักจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของบริษัทในธุรกิจนี้

SST เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจคลังสินค้าและคลังเอกสารซึ่งก่อตั้งในปี 2519 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2530 เริ่มแรกบริษัทได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ในการดำเนินธุรกิจคลังสินค้าและท่าเรือที่จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาในปี 2538 ได้ขยายกิจการสู่ธุรกิจคลังเอกสาร

ปัจจุบัน บริษัทเป็นเจ้าของคลังสินค้าและคลังเอกสารรวม 51 หลัง และมีท่าเทียบเรือ 2 ท่า มีพื้นที่เก็บสินค้าทั้งสิ้น 81,769 ตารางเมตร บริษัทใช้พื้นที่ประมาณ 25% ของพื้นที่ทั้งหมดในการจัดเก็บเอกสาร ส่วนที่เหลือ 75% ใช้จัดเก็บสินค้า

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 SST ประกาศจะซื้อหุ้น 99.7% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทอุตสาหกรรมวิวัฒน์ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชภายใต้เครื่องหมายการค้า“ทิพ"โดยใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทอุตสาหกรรมวิวัฒน์อยู่ระหว่างการทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้การดูแลของศาลล้มละลายกลาง คาดว่าแผนฟื้นฟูจะได้รับอนุมัติจากศาลภายในเดือนเมษายน 2554 และบริษัททรัพย์ศรีไทยจะเป็นผู้ถือหุ้นเพียงรายเดียวของบริษัทอุตสาหกรรมวิวัฒน์ตามแผนการฟื้นฟูกิจการ

หลังจากการซื้อกิจการดังกล่าวและรวมกิจการกับบริษัทเสร็จสมบูรณ์แล้ว โครงสร้างธุรกิจของบริษัทจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทมีแผนจะผลิตกากถั่วเหลืองและน้ำมันถั่วเหลืองรวม 80,000-100,000 ตันต่อปี และคาดว่ารายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับถั่วเหลืองจะสูงถึง 80%-90% ของรายได้รวมของบริษัท คิดเป็น 50%-60% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและดอกเบี้ยจ่าย โดยรายได้จากน้ำมันถั่วเหลืองจะคิดเป็นสัดส่วน 30%-40% ของรายได้รวมในธุรกิจถั่วเหลือง ส่วนที่เหลือจะมาจากรายได้การขายกากถั่วเหลือง เนื่องจากถั่วเหลืองเป็นทั้งพืชพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาจึงผันผวนตามธรรมชาติโดยเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงอุปสงค์และอุปทานของถั่วเหลือง

ทั้งนี้ ราคาขายปลีกน้ำมันถั่วเหลืองจะถูกควบคุมโดยกรมการค้าภายใน ส่วนกากถั่วเหลืองที่ผลิตในประเทศจะต้องแข่งขันกับกากถั่วเหลืองที่นำเข้าจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ระดับสากล เช่น ประเทศบราซิลและอาร์เจนติน่า จากกลไกตลาดในลักษณะดังกล่าว การปรับราคาขายเพื่อสะท้อนต้นทุนเมล็ดถั่วเหลืองที่ผันผวนจึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทาย ทั้งนี้ การพิจารณาความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทยังรวมถึงประสบการณ์ในธุรกิจถั่วเหลืองที่บริษัทมีค่อนข้างจำกัดด้วย

ในปี 2553 บริษัทเริ่มมีรายได้จากการขายน้ำมันถั่วเหลืองตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 หลังจากซื้อตราสินค้าและเครื่องหมายการค้า “ทิพ" จากบริษัทอุตสาหกรรมวิวัฒน์ รายได้รวมของบริษัทในปี 2553 จึงเพิ่มขึ้น 40% เป็น 273 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจคลังสินค้าและคลังเอกสาร 202 ล้านบาทและจากการขายน้ำมันถั่วเหลือง 71 ล้านบาท ในปี 2553 ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจคลังสินค้าและคลังเอกสารยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับ 58.7% อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรของธุรกิจน้ำมันถั่วเหลืองที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวลดลงเป็น 39.0% ในปี 2553 จาก 62.4% ในปี 2552

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 บริษัทมีเงินกู้รวม 572 ล้านบาท และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 33.0% อย่างไรก็ตาม คาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอ่อนแอลงหลังรวมงบการเงินกับบริษัทอุตสาหกรรมวิวัฒน์ในครึ่งหลังของปี 2554 โดยเงินกู้รวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อรวมเงินกู้ของบริษัทอุตสาหกรรมวิวัฒน์จำนวน 600-700 ล้านบาท

บริษัทจะใช้แหล่งเงินทุนจากการขายคลังเอกสารจำนวน 9 หลังให้แก่กองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อลงทุนในบริษัทอุตสาหกรรมวิวัฒน์ ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะได้รับเงินจำนวน 675 ล้านบาทจากการขายทรัพย์สินดังกล่าว บริษัทมีแผนจะถือหุ้น 1 ใน 3 ของกองทุนอสังหาริมทรัพย์และจะทำสัญญาเช่าคลังเอกสารและสินค้าจากกองทุนอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะเวลา 10 ปี คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนหลังการรวมบริษัทอุตสาหกรรมวิวัฒน์และสัญญาเช่าระยะยาวจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 50% จากสิ้นปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 33% นอกจากนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทโดยรวมจะลดลงเนื่องจากอัตรากำไรของธุรกิจถั่วเหลืองอยู่ในระดับต่ำ ผนวกกับภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ