(เพิ่มเติม) KKC เป้าปี 54 รายได้ 1.6หมื่นลบ./ปิดรับออร์เดอร์ชั่วคราวหวั่นงานล้นมือ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 22, 2011 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.กุลธรเคอร์บี้(KKC)ตั้งเป้ารายได้ปี 54 เติบโตมาที่ 1.6 หมื่นล้านบาท จากปี 53 ที่มีรายได้ 1.18 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งรักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่ 7-8% ด้วยการทยอยปรับราคาสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอมรับว่าวัตถุดิบเหล็กในส่วนที่เคยนำเข้าจากญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทำให้การผลิตหยุดชะงัก แม้ว่าจะสามารถสั่งจากเกาหลี ไต้หวันและจีนมาทดแทนได้ แต่อาจจะต้องเจรจาราคาใหม่

นายชนะชัย กุลนพฤกษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ KKC เปิดเผยว่า แม้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นที่ 7-8% ต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ปรับขึ้นมีผลกระทบบ้าง แต่บริษัทก็จะทยอยปรับราคากับลูกค้า แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะปรับราคาได้ทันกับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มองว่าระยะยาวเชื่อว่าอัตรากำไรขั้นต้นคงจะกลับมาดีขึ้นมาได้ เพราะบริษัทมุ่งผลิตสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง

ตั้งแต่ต้นปี 54 เป็นต้นมา ราคาวัตถุดิบ เช่น เหล็ก ปรับขึ้นมาประมาณ 10% แนวโน้มไตรมาส 2/54 ราคาเหล็กก็อาจจะมีผลกระทบบ้างจากภัยพิบัติญี่ปุ่นเนื่องจากบริษัทต้องนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่น 1 ใน 4 ของวัตถุดิบเหล็กทั้งหมดที่ใช้ในการผลิต อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณเหล็กจากญี่ปุ่นอาจจะน้อยลงบ้าง แต่บริษัทก็สามารถสั่งซื้อจากที่อื่นได้เช่น เกาหลี ไต้หวัน และ จีน

"เราซื้อเหล็กจากนิปปอน ญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ใต้โตเกียว โตเกียวก็ห่างจากเชนไดไม่กระทบในแง่โรงงาน แต่ปริมาณผลิตอาจจะน้อยเพราะมีการจำกัดการใช้ไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ราคาเหล็กไตรมาส 2 อาจมีผลบ้าง แต่ยืนยันเหล็กไม่กังวลเรื่องซัพพลายเพราะซื้อจากญี่ปุ่นหลายเจ้านอกจากนิปปอนก็มีคาวาซากิ และที่อื่นๆ ทั้งเกาหลี ไต้หวัน จีน ซึ่งก็ต้องดูภาวะต่อไป ในแง่วัตถุดิบจองล่วงหน้าไว้หมดแล้วไม่กังวลเรื่องวัตถุดิบไม่พอ แต่ราคา...ต้องคุยกัน"นายชนะชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทได้หยุดการรับคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์)ล่วงหน้าชั่วคราว เนื่องจากเกรงว่าจะผลิตไม่ทัน หลังจากมีออร์เดอร์ในมือที่จะต้องส่งมอบไปถึงเดือน ก.ค.และ ส.ค.54 แล้ว โดยออร์เดอร์เข้ามามากจากลูกค้าที่ย้ายมาสั่งสินค้ากับบริษัทเพิ่มขึ้นและสินค้าของบริษัทได้รับการยอมรับจากตลาดมากขึ้น

ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนการส่งออก 60% ตลาดในประเทศ 39% โดยเฉพาะสินค้าประเภทคอมเพสเซอร์แอร์ มีการส่งออกถึง 90% ตลาดในประเทศ 10%

"คอมเพสเซอร์แอร์และคอมฯใช้กับตู้แช่เชิงพาณิชย์ เป็นตัวสร้างกำไร ส่วนคอมฯตู้เย็นเล็กจำเป็นต้องทำเพื่อกระจายต้นทุน รักษาฐานลูกค้า คอมฯเล็กมาร์จินไม่ดี แต่คอมฯกลาง-ใหญ่ กำไรเป็นเรื่องเป็นราวดี"นายชนะชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ