SYMC มั่นใจปี 54 โตกว่า 15%,ขยายบริการโครงข่ายสื่อสารเพิ่ม 55 อาคาร

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 22, 2011 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัณย์พล อัศวสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น(SYMC) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่ารายได้ในปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 577 ล้านบาท เนื่องจากผลการดำเนินงาน 2-3 เดือนแรกของปีนี้ทำได้ดี ซึ่งรายได้หลักมาจากการให้บริการวางโครงข่ายใยแก้วนำแสงเพื่อการสื่อสารและการขายอุปกรณ์

แผนงานในปีนี้บริษัทจะขยายการติดตั้งโครงข่ายบริการสื่อสารผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงเข้าไปในอาคารสำนักงานชั้นนำในกรุงเทพและปริมณฑลเพิ่มขึ้น เดิมเคยมีอยู่แล้ว 28 อาคาร โดยจะเพิ่มอีก 55 อาคาร ซึ่งจะร่วมมือกับ ISP และพันธมิตรเข้าไปทำตลาดในอาคารเป้าหมาย เช่น ซันทาวเวอร์ อมรินทร์ทาวเวอร์ คิวเฮ้าส์ลุมพินี และ เอเชียเซ็นเตอร์

สำหรับรูปแบบบริการจะเป็นวงจรประเภท Metro Ethernet และ Ready Ethernet ซึ่งในปีนี้จะเน้นที่บริการประเภท Ready Ethernet ให้มากขึ้นจากเดิมที่มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 7% เนื่องจากมีอัตรากำไรสูงกว่าบริการ Metro Ethernet ที่สัดส่วนรายได้ 47%

นอกจากนั้น บริษัทยังมีบริการ TDM ที่เป็นโครงข่ายสื่อสารเชื่อมต่อระหว่างสำนักงาน เชื่อมต่อระหว่างอินเตอร์เนต และรับส่งข้อมูลเรียลไทม์ ซึ่งเดิมมีสัดส่วนรายได้ 17% แต่แนวโน้มในอนาคตคงจะลดลง เนื่องจากไม่เป็นที่นิยมและราคาสูง อีกทั้งความเร็วในการรับส่งข้อมูลค่อนข้างจำกัด รวมทั้งบริการโครงข่าย Dark Fiber ที่ติดตั้งให้กับกลุ่มรธนาคาร สัดส่วนรายได้ 10% และ SDH ซึ่งเป็นโครงข่ายพื้นฐานของผู้ให้บริการโทรคมนาคม เป็นการใช้งานจำกัดเฉพาะกลุ่ม มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 8%

นายกรัณย์พล กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้บริษัทยังได้เข้าไปทำตลาดในกลุ่มทีวีดาวเทียมและคอนเท้นท์ เช่น แกรมมี่ กันตนา อาร์เอส และเจเอสแอล เพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารเชื่อมโยงสถานีดาวเทียมไทยคมในการแพร่ภาพกระจายสัญญาณไปยังผู้ชม ซึ่งในปีนี้แนวโน้มทีวีดาวทียมมีการเติบโตที่ดีก็จะส่งผลดีกับบริษัทด้วย

บริษัทยังมีเป้าหมายขยายพื้นที่ให้บริการโครงข่ายสื่อสารครอบคลุม 11 นิคมอุตสาหกรรมชั้นนำ ภายใต้งบลงทุนเบื้องต้น 120 ล้านบาท เป้าหมายคุ้มทุนภายใน 3 ปี ซึ่งในปีนี้กำลังขยายโครงข่ายการให้บริการในนิคมอุตสาหกรรม โรจนะ บางปะอิน และไฮเทค โดยอยู่ระหว่างร่วมกับพันธมิตรเข้าไปเจรจากับโรงงานประมาณ 30-40 โรง เพื่อเข้าไปวางระบบ

พร้อมทั้งศึกษาเส้นทางการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วไปยังภาคตะวันออกเพื่อขยายการให้บริการใน จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อมตะ และแหลมฉบัง

นายกรัณย์พล กล่าวถึงสถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นว่า ส่งผลดีต่อบริษัทในแง่ที่ทำให้ทุกคนตระหนักถึงการมีดาต้าเซ็นเตอร์ขององค์กร แต่ผลกระทบในแง่ลบคงจะต้องตรวจสอบว่าซัพพลายเออร์ได้รับผลกระทบหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ