MLINK เป้ารายได้ปี 54 โต 10% จ่ายปันผลได้/มั่นใจ"โนเกีย"ลุยตลาดมือถือ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 26, 2011 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิเชษฐ์ บุญยภักดี กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (MLINK) กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ปี 54 บริษัทตั้งเป้ารายได้ที่ 7,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 6,400 ล้านบาท เติบโต 10% และเชื่อว่าผลประกอบการจะออกมาดีและสามารถกลับมาจ่ายปันผลได้อีกครั้ง หลังจากในงวดปี 53 บริษัทไม่ได้จ่ายปันผล

อนึ่ง MLINK และบริษัทย่อยในปี 53 มีกำไร 66.49 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.12 บาท ลดลงจากปี 52 ที่มีกำไร 120.69 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.22 บาท

รายได้หลักของ MLINK ในปีนี้ยังมาจากธุรกิจหลักในการเป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบรนด์"โนเกีย"โดยเชื่อว่าจะสร้างรายได้และกำไรเป็นสัดส่วนหลักเหมือนที่ผ่านมา และไม่กังวลความเสี่ยงว่าโนเกียจะพิจารณาเปลี่ยนผู้แทนจำหน่าย เพราะจากการประชุมล่าสุดทางโนเกียยังให้ความไว้วางใจและเห็นว่าบริษัทว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โนเกียประสบความสำเร็จในการทำตลาดในประเทศไทย โดยมองว่าในอีก 2-3 ปีนี้ก็คงจะยังเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายให้กับโนเกียต่อไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทยอมรับว่าการแข่งขันในกลุ่มสมาร์ทโฟนและโทรศัพท์มือถีอระดับไฮเอนด์ เช่น แบล็กเบอรี่ หรือไอโฟน มีผลกระทบบ้างกับกลุ่มลูกค้าระดับสูง แต่ในกลุ่มระดับกลาง-ล่าง ผู้บริโภคยังให้ความไว้วางใจแบรนด์โนเกียเป็นหลัก และเชื่อว่าปีนี้มือถือเฮ้าส์แบรนด์และมือถือราคาถูกจะไม่สามารถตีตลาดโนเกียได้

นอกจากนั้น ทางโนเกียก็พยายามปรับตัวโดยการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับไมโครซอฟต์เพื่อผลิตมือถิอแบบสมาร์ทโฟนออกมาแข่งขันในตลาดโลกได้ และเชื่อว่าการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จก็จะส่งผลดีต่อ MLINK ในฐานะที่เป็นตัวแทนจำหน่าย 1 ใน 3 รายของโนเกียในประเทศไทย

นายพิเชษฐ์ กล่าวถึงราคาหุ้น MLINK ว่า ช่วงที่ผ่านไม่ค่อยเคลื่อนไหวมากนักน่าจะมาจากความกังวลกรณีที่บริษัท พอร์ทัลเน็ท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย MLINK ถือหุ้น 100% มีปัญหาเกี่ยวกับโครงการจัดทำระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์สำเร็จให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และยังไม่ได้รับรายได้ แม้ว่าจะมีการเรียกร้องไปยังหน่วยงานของกฟภ.รวมถึงมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองแล้ว

แต่ล่าสุด กฟภ.ได้ให้แนวนโยบายและมีการเจรจากัน เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ โดยมูลค่าค่าเช่าระบบในระยะเวลา 5 ปี เป็นเงิน 3.19 พันล้านบาท บริษัทจะรับรู้รายได้เดือนละ 53 ล้านบาท ซึ่งหากมีข้อสรุปคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในเดือน ม.ค.55

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการเรียกร้องผลตอบแทนส่วนเพิ่มจาก กฟภ.ที่มีการเช่าใช้ระบบซอฟต์แวร์ของบริษัทมาเป็นเวลา 3 ปีก่อนที่จะมีการส่งมอบงานอย่างเป็นทางการมูลค่า 1.8 พันล้านบาท และยังมีค่าปรับปรุงระบบรวมกว่า 200 ล้านบาท หากบริษัทได้รับการชดเชยความเสียหายในส่วนนี้จะทำให้มีรายได้เพิ่มเข้ามาหลังจากที่กังวลว่ามูลค่างานใกล้เคียงกับมูลค่าการลงทุนของงานดังกล่าวที่ 3.2 พันล้านบาท โดยขณะนี้งานลงทุนไปแล้วประมาณ 3 พันล้านบาท และในปี 54 จะลงทุนอีก 200 ล้านบาทก็จะเสร็จสิ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ