นายบดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการ สายงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดเผยว่า ตลท.พัฒนาแนวทางและกระบวนการปฏิบัติงานบริการหลังการซื้อขายมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ให้ทัดเทียมกับตลาดหุ้นสากลรองรับการแข่งขันระดับเวทีโลก รวมทั้งเพิ่มโอกาสทางธุรกิจแก่สมาชิกโดยพัฒนาระบบงานที่เกี่ยวข้องกับงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ 2 ระบบงาน ได้แก่ บริการแจ้งข่าวสิทธิประโยชน์ของบริษัทจดทะเบียน หรือ Corporate Action News ด้วยรูปแบบภาษามาตรฐาน SWIFT Message และระบบงานบริการ Third Party Clearing (TPC)
การใช้ SWIFT Message เพื่อแจ้งข่าวการจ่ายสิทธิประโยชน์ของบริษัทจดทะเบียนนั้น ตลท.ถือเป็นผู้ให้บริการเป็นรายแรกในอาเซียน ซึ่งนับเป็นการก้าวสู่การให้บริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ที่อิงข้อมูลโดยตรงจากบริษัทจดทะเบียนและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เจ้าหน้าที่มาจัดทำข้อมูลใหม่ซึ่งผู้รับข้อมูลดังกล่าวก็สามารถนำข้อมูลเข้าสู่ระบบงานได้โดยอัตโนมัติ หรือ StraightThrough Processing (STP) ซึ่งเป็นระบบที่เป็นมาตรฐานสากล และในส่วนของบริการ Third Party Clearing นั้น เชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องและเพิ่มปริมาณธุรกรรมการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ ระบบแจ้งข่าวสิทธิประโยชน์ของบริษัทจดทะเบียน หรือ Corporate Action News ด้วยรูปแบบภาษามาตรฐาน SWIFT Message ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารที่เป็นมาตรฐานสากลแพร่หลายในกลุ่มสถาบันการเงินนั้น จะทำให้สมาชิกศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ในกลุ่มคัสโตเดียนแบงค์ได้รับข่าวเกี่ยวกับการแจ้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากบริษัทจดทะเบียนได้โดยตรง เช่น การจ่ายเงินปันผล การเพิ่มทุน การปิดสมุดทะเบียนเพื่อประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งจะเป็นการให้บริการข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และทันเวลา โดยจะพร้อมให้บริการแก่สมาชิกได้ตั้งแต่เดือน ก.ย.54 เป็นต้นไป
ส่วนระบบ Third Party Clearing (TPC) เป็นบริการที่เปิดโอกาสให้บริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นสมาชิกสำนักหักบัญชีปัจจุบันสามารถให้บริการงานชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์แทนบริษัทหลักทรัพย์อื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสำนักหักบัญชีได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจแก่ทั้งบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสำนักหักบัญชีปัจจุบัน และยังทำให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่ใช่สมาชิกของสำนักหักบัญชีสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ โดยสามารถชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ผ่านสมาชิกแทนการสมัครเป็นสมาชิกเองซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูง โดยระยะแรกจะเป็นการให้บริการกับสมาชิกกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสำนักหักบัญชี ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 54 เป็นต้นไป
ปัจจุบัน สมาชิกของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ มี 118 ราย ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ 37 ราย ธนาคารพาณิชย์ 58 ราย และประเภทอื่นๆ อีก 23 ราย สำหรับสมาชิกของสำนักหักบัญชี ปัจจุบันมี 89 ราย ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ 37 ราย ธนาคารพาณิชย์ 46 ราย และประเภทอื่นๆ อีก 6 ราย