บลจ.ยูโอบี ลดน้ำหนักลงทุนตราสารทุนหันหาตราสารหนี้ แนะเน้นสินค้าโภคภัณฑ์

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 23, 2011 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรวุฒิ ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ยูโอบี(ไทย) กล่าวในการสัมมนา"จับทิศทางเศรษฐกิจ เจาะลึกสินทรัพย์ทั่วโลก"ว่า ในปีนี้ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตราสารทุนทั่วโลกลงเหลือ 55% จาก 60% เนื่องจากยังมีความเสี่ยงเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรป โดยเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ขึ้นเป็น 35% จาก 27% ที่เหลือเป็นอื่นๆ เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม มองการลงทุนในเอเชียยังน่าสนใจอยู่

การลงทุนในครึ่งหลังปีนี้ให้พิจารณาจากตัวเลข ISM ของสหรัฐถ้าต่ำกว่า 50 จุดเรื่อยๆ เป็นการบ่งบอกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ยั่งยืน,ราคาน้ำมันดิบถ้ายังปรับขึ้นต่อสะท้อนต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น,ความเสี่ยงการเติบโตของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ถ้าไม่เป็นไปตามคาด,เงินเฟ้อถ้าสูงขึ้นมากๆรัฐบาลแต่ละประเทศจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยก็มีต้นทุน,มาตรการQE2จบและถ้าไม่มีQE3ต่อ,ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐรุ่น 10 ปี ถ้า yield เกิน 5% เป็นการบ่งบอกว่านักลงทุนคงย้ายการลงทุนจากหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงไปพันธบัตรดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ให้ลดการลงทุนในตราสารทุนลง แต่น้ำหนักก็ยังมากที่สุดเพียงแต่ให้ระมัดระวัง ช่วงสั้นตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาอาจจะแกว่งๆ แต่ระยะกลาง-ยาวยังเชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ส่วนจะดีขึ้นเมื่อไรก็ต้องดูตัวเลขเศรษฐกิจถ้ามีโมเมนตั้มที่โตได้อยู่ก็จะเป็นบวก

นายเอกรัตน์ อภิวัฒนพร ผู้อำนวยการ ฝ่ายการลงทุนต่างประเทศ บลจ.ยูโอบี(ไทย) แนะนำโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ เน้นที่สินค้าโภคภัณฑ์ยังเป็นสินทรัพย์ที่มีการปรับขึ้น ซึ่งการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จะช่วยกระจายความเสี่ยงออกไป เช่น ทองคำยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นที่แข็งแกร่ง เพราะแนวโน้มธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เช่น จีน และ อินเดีย ยังคงซื้อมาก เพราะความน่าเชื่อถือของสกุลเงินหลักอย่างสหรัฐ ยุโรปลดลง ทองคำจึงเป็นสินค้าทดแทนดีที่สุด ดีมานด์ยังเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปี 54 ราคาทองคำน่าจะแตะ 1,750 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ และคงคิดว่าทองคำเป็นขาขึ้นมากกว่าลงในระยะสั้น รวมถึงการลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเหมืองทองคำก็น่าสนใจ

อย่างมุมมองของดอยช์แบงก์ส่วนใหญ่เน้นที่สินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนจะเป็นชนิดไหนนั้นอยู่ที่มุมมอง จังหวะเวลา อย่างสินค้าพลังงาน น้ำมันโอกาสปรับขึ้นเป็นไปได้บวกกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากประเทศเกิดใหม่อย่างจีนนับวันนำเข้าน้ำมันมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ