ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร ICC ที่ระดับ AA/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 30, 2011 08:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (ICC) ที่ระดับ “AA" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ของประเทศในสินค้าประเภทชุดชั้นในสตรี เครื่องแต่งกายบุรุษ และเครื่องสำอาง ตลอดจนการมีคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ ความหลากหลายของสินค้าและตราสัญลักษณ์สินค้า และความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับห้างสรรพสินค้าและดิสเคาน์สโตร์ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสถานะที่ปลอดหนี้ของบริษัทภายใต้นโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังและเสถียรภาพในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากระดับผลกำไรที่ต่ำซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของธุรกิจจัดจำหน่าย รวมถึงความซับซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้นของเครือสหพัฒน์

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำทางการตลาดที่แข็งแกร่งในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เอาไว้ได้แม้จะมีการแข่งขันสูงก็ตาม โดยที่ความหลากหลายของสินค้าและนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ส่งเสริมสถานะอันดับเครดิตของบริษัท อย่างไรก็ตาม การลงทุนเชิงรุกในอนาคตอาจส่งผลในทางลบต่ออันดับเครดิตได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ICC เป็นผู้จัดจำหน่ายและค้าส่งสินค้ารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศ โดยดำเนินกิจกรรมทางการตลาดและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค เช่น ชุดชั้นในสตรี เสื้อผ้า และเครื่องสำอาง ด้วยตราสัญลักษณ์สินค้ามากกว่า 80 ตรา ครอบคลุมตราสัญลักษณ์ทั้งจากต่างประเทศและของบริษัทเอง ตราสัญลักษณ์จากต่างประเทศที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย ได้แก่ Wacoal, Arrow, Lacoste, Guy Laroche และ ELLE เป็นต้น

สินค้าของบริษัทมีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ดิสเคาน์สโตร์ และร้านค้าต่าง ๆ กว่า 3,700 แห่งทั่วประเทศ ความสามารถและประสบการณ์ที่ยาวนานของคณะผู้บริหารและความร่วมมือที่ดีจากบริษัทผู้ผลิตสินค้าและผู้จัดหา (Supplier) ภายในเครือสหพัฒน์เป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำตลาดเอาไว้ได้

สินค้า 3 กลุ่มหลักที่สร้างรายได้สำคัญให้แก่บริษัท คือ ชุดชั้นในสตรี เครื่องแต่งกายบุรุษ และเครื่องสำอาง โดยชุดชั้นในสตรีและเครื่องแต่งกายบุรุษสร้างยอดขายในสัดส่วนอย่างละ 26%-28% ของรายได้รวมสำหรับช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและไตรมาสแรกของปี 2554 ในขณะที่เครื่องสำอางซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 13%

สำหรับตลาดชุดชั้นในสตรีนั้น บริษัทเป็นผู้ครองตลาดทั้งในตลาดระดับกลางถึงบนโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดผ่านห้างสรรพสินค้ารวมมากกว่า 60% ในปี 2553 ผลิตภัณฑ์ Wacoal เป็นแบรนด์ผู้นำตลาดชุดชั้นในสตรีมากว่าหนึ่งทศวรรษ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 56% ในปี 2553 ถึงแม้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของ Wacoal มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากมีตราสัญลักษณ์สินค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากและมีการแข่งขันสูง แต่ส่วนแบ่งทางการตลาดของ Wacoal ก็ยังคงมากกว่าคู่แข่งลำดับรองลงมากว่าเท่าตัว รายได้จาก Wacoal คิดเป็นสัดส่วน 21%-22% ของรายได้รวมของบริษัทตั้งแต่ปี 2551 ส่วนจุดแข็งของเครื่องแต่งกายบุรุษของบริษัทนั้นมาจาก Lacoste และ Arrow ที่สร้างยอดขายเฉลี่ย 10% และ 8% ของรายได้รวม ตามลำดับ เครื่องสำอาง

บีเอสซี คอสเมโทโลจีซึ่งเป็นตราสินค้าของบริษัทเองเป็นสินค้าหลักในแผนกเครื่องสำอางซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 750-800 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ICC มีรายได้เติบโต 6.1% ในปี 2553 และ 14.7% สำหรับไตรมาสแรกของปี 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การเพิ่มขึ้นของรายได้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2553 นอกจากนี้ ยังเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากแนวคิดของผู้บริหารที่ต้องการผลักดันให้บริษัทเติบโตในเชิงรุกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะดำเนินกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการตลาดที่มากขึ้น รวมทั้งกระจายสินค้าให้ครอบคลุม และพัฒนาสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ต้องระวังคือต้นทุนการดำเนินงานที่โดยปกตินั้นจะค่อนข้างสูงและส่งผลต่อการทำกำไรของบริษัทในกลุ่มเทรดดิ้ง

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายสำหรับการตลาดและส่งเสริมการขายยังคงมีความสำคัญเพื่อดึงดูดลูกค้าสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค หลังจากที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้จากการขายของบริษัทลดลงไปอยู่ที่ระดับ 4.9% ในปี 2552 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองแล้วก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 5.9% ในปี 2553 และ 7.4% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 ตามลำดับ ผลจากความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตสินค้าและผู้จัดหาในเครือสหพัฒน์และการมีประเภทสินค้าที่หลากหลายทำให้บริษัทสามารถคงระดับกำไรจากการดำเนินงานให้อยู่ในช่วง 6%-7% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของบริษัทยังคงแข็งแกร่งเนื่องจากบริษัทสามารถดำรงสภาวะปลอดหนี้และมีเงินสดจากการดำเนินงานที่มั่นคง บริษัทดำรงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังมาโดยตลอดเพราะไม่มีค่าใช้จ่ายลงทุนขนาดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2545 บริษัทมีการค้ำประกันบริษัทที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบจัดหาสินค้าและวัตถุดิบ โดยภาระค้ำประกันดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่องและมียอดคงเหลือ 152 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงาน 833 ล้านบาทในปี 2552 และ 863 ล้านบาทในปี 2553

เงินทุนจากการดำเนินงานสำหรับไตรมาสแรกของปี 2554 อยู่ที่ 223 ล้านบาท เติบโต 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรยังคงอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากบริษัทมีฐานเงินทุนเพิ่มขึ้นและคงการจ่ายเงินปันผลในระดับปานกลาง แต่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรสำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 2.4% จาก 1.6% (ทั้ง 2 จำนวนยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) สำหรับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในเดือนเมษายน 2554 บริษัทได้ลงทุนใน บริษัท ร่วมอิสสระ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านพักตากอากาศริมทะเลชะอำ-หัวหิน มูลค่าการลงทุน 19.99 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 25% ของ มูลค่าทุนจดทะเบียน โดยมีผู้ร่วมทุนอีก 2 ราย คือ กลุ่มชาญอิสระซึ่งลงทุน 50% และ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ซึ่งลงทุน 25% บริษัทคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนใน 2 รูปแบบคือผลตอบแทนเงินปันผลและโอกาสทางธุรกิจในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ในมุมมองของทริสเรทติ้ง การเข้าไปลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนลเนื่องจากธุรกิจดังกล่าวมีการแข่งขันสูง อีกทั้งหัวหินก็เป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ส่วนใหญ่เข้าไปพัฒนาโครงการไว้แล้ว

นอกจากนี้ บริษัทยังต้องพึ่งพาความชำนาญของพันธมิตรในการพัฒนาโครงการด้วย และในที่สุดก็อาจต้องให้การสนับสนุนทางการเงินในอนาคตไม่ว่าจะในรูปการสรรหาเงินทุนโดยการก่อหนี้หรือการเพิ่มทุน ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าการที่บริษัทจะให้การสนับสนุนทางการเงินในโครงการต่าง ๆ หรือลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตนั้นจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อคงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังและรักษาระดับสภาพคล่องให้เพียงพอตลอดเวลา

บริษัทและบริษัทอื่น ๆ ในเครือสหพัฒน์มีโครงสร้างการถือหุ้นที่ไขว้กันอย่างค่อนข้างซับซ้อน แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าการทำธุรกรรมระหว่างกันของบริษัทในเครือสหพัฒน์น่าจะเป็นไปตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ