ทริสฯให้เครดิตองค์กร-หุ้นกู้ KSL ที่"A-"แนวโน้ม"Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 17, 2011 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. น้ำตาลขอนแก่น(KSL) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล และความมีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาล ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงแผนการขยายงานของบริษัท ตลอดจนความเสี่ยงทั้งในด้านกฎระเบียบและจากการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา รวมทั้งความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยเอาไว้ได้ ส่วนผลการดำเนินงานของโรงงานน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชานั้นคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนในปีการผลิต 2555 ในขณะที่ศูนย์การผลิตแห่งใหม่ในอำเภอบ่อพลอยจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการจัดหาอ้อยให้แก่บริษัท ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความเข้มแข็งของฐานะการเงินเอาไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินธุรกิจน้ำตาลในต่างประเทศ

KSL เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย ซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ปัจจุบันตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทรวม 68% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 4 แห่ง ในจังหวัดขอนแก่น กาญจนบุรี และชลบุรี มีกำลังการหีบอ้อยรวม 64,000 ตันอ้อยต่อวัน

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถจัดหาอ้อยได้ปีละประมาณ 4-5 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาลทรายเฉลี่ย 500,000 ตันต่อปี ในปีการผลิต 2553/2554 กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถผลิตน้ำตาลได้ 622,330 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 6.44% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ ซึ่งจัดอยู่ในลำดับ 5 รองจากกลุ่มมิตรผล ซึ่งมีสัดส่วน 19.34% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 16.67% กลุ่มไทยเอกลักษณ์ 11.27% และกลุ่มวังขนาย 7.82%

โรงงานของ KSL มีประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 91.01 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยเมื่อวัดจากอ้อยในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับปีการผลิต 2553/2554 ซึ่งดีกว่าอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยที่ 89.58 กก.

ตั้งแต่ปี 2549 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย ประกอบด้วย ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอล โดยในระหว่างปีการผลิต 2550-2552 รายได้จากธุรกิจพลังงาน (เอทานอลและไฟฟ้า) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของยอดขายรวมของบริษัท ในขณะที่กำไรสุทธิจากธุรกิจพลังงานคิดเป็นสัดส่วนถึง 29% ของกำไรสุทธิรวม ส่วนในปีการผลิต 2553 รายได้จากธุรกิจพลังงานคิดเป็น 8.85% ของยอดขาย และมีกำไรสุทธิคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 170.57% ของกำไรสุทธิรวมเนื่องจากเกิดการขาดทุนจากการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ในธุรกิจน้ำตาล

ส่วนโรงงานน้ำตาลของกลุ่ม KSL ในประเทศลาวและกัมพูชาเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปีการผลิต 2552/2553 และมีอ้อยป้อนโรงงานทั้ง 2 แห่งจำนวน 102,266 ตันอ้อยในปีการผลิต 2552/2553 และเพิ่มขึ้นเป็น 300,299 ตันอ้อยในปีการผลิต 2553/2554 ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเนื่องจากการขาดแคลนแรงงานฝีมือและความยากลำบากในการบริหารจัดการไร่อ้อยในประเทศดังกล่าว บริษัทส่งออกน้ำตาลทรายดิบที่ผลิตจากโรงงานในประเทศลาวและกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศยุโรปและคาดว่าโรงงานทั้ง 2 แห่งนี้จะสามารถผลิตน้ำตาลในระดับที่ถึงจุดคุ้มทุนได้ในปีการผลิต 2554/2555

เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแกร่งด้านการจัดหาอ้อย บริษัทมีการลงทุนจำนวน 7,250 ล้านบาทเพื่อย้ายโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิมและขยายกำลังการผลิตไปยังศูนย์การผลิตแห่งใหม่ในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี โดยศูนย์การผลิตดังกล่าวประกอบด้วยโรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตเอทานอล และโรงไฟฟ้าอย่างละ 1 โรง ปัจจุบันโครงการส่วนแรกเริ่มดำเนินการผลิตแล้วในปีการผลิต 2553/2554 และคาดว่าโครงการส่วนที่ 2 จะเริ่มดำเนินงานในปีการผลิต 2554/2555

บริษัทยังเตรียมโครงการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลไปยังจังหวัดเลยโดยใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3,800 ล้านบาทด้วย โดยโครงการนี้ประกอบด้วยโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าอย่างละ 1 โรง ทั้งนี้ คาดว่าโรงงานแห่งใหม่ดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปีการผลิต 2556/2557

ในปีการผลิต 2553 (พฤศจิกายน 2552-ตุลาคม 2553) บริษัทมียอดขายรวม 12,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.81% จากปีการผลิต 2552 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาขายที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์น้ำตาลและเอทานอล อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทลดลงจาก 13.45% ในปีการผลิต 2552 เป็น 5.05% ในปีการผลิต 2553 เนื่องมาจากผลขาดทุนจากการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ตลอดจนการมีต้นทุนวัตถุดิบที่สูงจากการมีปริมาณอ้อยที่ต่ำกว่าคาด ความล่าช้าของโครงการบ่อพลอยที่เกินกำหนดไป 1 ปี และผลขาดทุนจากการดำเนินงานของธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา

ในช่วง 6 เดือนแรกของปีการผลิต 2554 (สิ้นสุดเดือนเมษายน 2554) ยอดขายของบริษัทอยู่ที่ 6,742 ล้านบาท โดยเติบโต 4.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลจากราคาน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปีการผลิต 2554 ก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 129.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 695 ล้านบาทสาเหตุจากผลขาดทุนจากการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ที่ลดลงอย่างมาก ณ เดือนเมษายน 2554

บริษัทมียอดเงินกู้เพิ่มขึ้นเป็น 15,645 ล้านบาทและมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 60.24% จากการลงทุนในโครงการที่บ่อพลอยและการมีเงินกู้ระยะสั้นเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลผลิต ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวลดลงเมื่อโครงการที่บ่อพลอยดำเนินการผลิตได้เต็มกำลัง

สำหรับปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกว่ามีความผันผวนเป็นอย่างมาก ในปีการผลิต 2553/2554 ปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยมีมากถึง 95.38 ล้านตันอ้อย ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากการมีพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกอ้อย ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกในเดือนมกราคม 2554 อยู่ในระดับสูงที่ 36.11 เซนต์/ปอนด์เนื่องจากผลผลิตอ้อยที่ลดลงในประเทศออสเตรเลีย และต่อมาปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 26.64 เซนต์/ปอนด์ในเดือนพฤษภาคม 2554 จากผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นของไทย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลกลับมาเพิ่มสูงขึ้นเป็น 29.75 เซนต์/ปอนด์ในเดือนมิถุนายน 2554 และคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจากผลผลิตน้ำตาลของประเทศบราซิลที่ต่ำกว่าคาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ