(เพิ่มเติม) "จรัมพร"ยันไม่ใช้มาตรการพิเศษดูแลตลาดหุ้นหลังร่วงหนักตามต่างประเทศ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 23, 2011 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)กล่าวว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อดูแลตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ แม้ว่าในช่วงเช้าที่ผ่านมาจะร่วงลงไปลึกกว่า 5% ในระหว่างเทรด เนื่องจากเป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้น ตลท.ก็จะเตรียมมาตรการปกติที่วางหลักเกณฑ์ไว้คือเซอร์กิต เบรคเกอร์ หากดัชนีลงไปลึกถึง 10% เพื่อพักการซื้อขายหลักทรัพย์ช่วงหนึ่ง ก่อนเกิดให้มีการซื้อขายตามปกติ

นายจรัมพร กล่าวว่า หลังจากตลาดหุ้นร่วงลงอย่างหนักจนลึกถึง 5% ก็ได้โทรศัพท์หารือกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และได้ส่งข้อความ(SMS) แจ้งให้นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รมว.คลัง ที่อยู่ระหว่างการเดินทางไปร่วมประชุมระดับโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริการับทราบแล้ว แต่จากการหารือเห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษใด ๆ

"Step ต่อไป ถ้าลงมากกว่านี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีมาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ เราก็บอกผู้ว่าฯ แบงก์ชาติไปเช่นนั้น และผู้ว่าฯหวังว่าคงไม่ถึง 10%"ผู้จัดการ ตลท. กล่าว

สำหรับแนวคิดการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นเหมือนที่เคยดำเนินการมาในอดีตนั้น นายจรัมพร กล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะต้องใช้กองทุนพยุงหุ้น เพราะดัชนี SET ยังอยู่ในระดับสูงใกล้ 1,000 จุด จากปีก่อนลงไปถึง 750 จุด

และจากตั้งแต่จนถึงขณะนี้ นักลงทุนต่างชาติขายไปราว 3.1 หมื่นล้านบาท ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบช่วงที่มีปัญหาความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งนักลงทุนต่างชาติขายออกไปถึง 5.8 หมื่นล้านบาท และถ้าเทียบปี 51 ที่เกิดวิกฤติซับไพร์มต่างชาติขายออกไปถึง 1.58 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปนักลงทุต่างชาติจะขายออกไปอีกมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่ว่าทางบริษัทแม่หรือสถาบันต้นสังกัดต้องการดึงเงินลงทุนกลับไปมากน้อยแค่ไหน โดยสถานการณ์แตกต่างจากในอดีต รอบนี้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐและยุโรป ส่วนปี 51 เมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐนั้น ตลาดหุ้นเอเชียรวมถึงไทยยังไม่น่าสนใจเท่ากับในปัจจุบัน

สาเหตุที่ดัชนีหุ้นปรับตัวลงไปมากนั้นเนื่องจากสหรัฐไม่มีมาตรการแก้ไขเศรษฐกิจอย่างจริงจังในการแก้ปัญหา Real Sector จึงส่งผลให้หุ้นทั่วโลกปรับลงหมด และทำให้ไม่มั่นใจการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะเป็นประเด็นในระยะยาว เพราะในอดีตสหรัฐใช้เงินเกินตัว

ขณะที่ยุโรป ก็ยังไม่มีความแน่นอนอย่างมากในการแก้ไขหนี้ จึงมองว่าแนวโน้มน่าจะบานปลาย และเชื่อว่าจะเห็นเม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่นหุ้น ไหลไปในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลทั่วโลก เป็นต้น ซึ่งจะมีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นมากแค่ไหนนานแค่ไหนยังยากที่จะประเมิน ฉะนั้น คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

"ผมเชื่อว่ารอบนี้ น่าจะคล้ายกับปี 2008 (พ.ศ.2551) ที่รับกระทบเรื่องเลย์แมน คงมีเม็ดเงินออกจากภูมิภาคช่วงแรก เพราะตลาดหลักของเขามีปัญหา และขายหุ้นในเอเชียก็ยังมีกำไรอยู่"นายจรัมพร กล่าว

นายจรัมพร เชื่อว่ายังมีนักลงทุนต่างชาติพร้อมเข้ามาลงทุนแทนกล่มที่ขายหุ้นไทยออกไป เพราะหุ้นไทยยังเป็นสินทรัพย์ที่ดี ในจำนวนสินทรัพย์ที่ดีเหลืออยู่ไม่มากในโลก ขณะที่คนไทยรอซื้อได้

"ต่างชาติต้องขายเพราะไม่มีทางเลือกก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อเขาขายเสร็จต้องกลับมาดูพื้นฐานอีกรอบ เมื่อถึงตอนนั้นเชื่อว่า พื้นฐาของไทยนจะกลับมาน่าสนใจมากกว่านี้ วิกฤติตอนนี้เป็นโอกาสดีที่จะเลือก บจ.ที่ตัวเองสนใจ ส่วนสถานการณ์เร็วช้าแค่ไหนให้ติดตามข่าวสารทางการเงินและการลงทุนโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งวิกฤตโลกเป็น factor ที่ต้องติดตาม"

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการตลท. เชื่อว่า บริษัทจดทะเบียนของไทยน่าจะผ่านวิกฤติไปได้ เพราะเคยผ่านมาวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้วเมื่อปี 51 และพบว่าประมาณ 70% ของ 100 บริษัทขนาดใหญ่ของไทย (Top 100) มีการจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง 3 ปี ซึ่งผู้ลงทุนระยะยาวควรเลือกลงทุนหุ้นเหล่านี้ เพราะมีความเสี่ยงน้อย แต่หากลงทุนระยะสั้นต้องระวัง เพราะราคาหุ้นผันผวนมาก

สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์เฝ้าระวัง คือ เรื่องสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ (มาร์จิ้นโลน) โดยปัจจุบันในระบบมีอยู่จำนวน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง ซึ่งตลท.จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนการบังคังขายหุ้น(ฟอร์ซเซล) ยังไม่น่ากังวล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ