ตลาดหุ้นเอเชียอ่อนตัวลงเช้านี้ เหตุวิตกหนี้ยุโรป-เศรษฐกิจโลกถดถอย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 26, 2011 09:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดอ่อนตัวลงเช้านี้ เนื่องจากตลาดยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในยุโรป หลังจากที่ยุโรปยังไม่สามารถหามาตรการเพื่อบรรเทาวิกฤตหนี้ในภูมิภาค ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้

ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 8,547.62 จุด ลดลง 12.64 จุด ขณะที่ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 17,634.42 จุด ลดลง 34.41 จุด ส่วนดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตเปิดตลาดลดลง 0.7% แตะที่ 2,416.23 จุด ดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นโซลเปิดวันนี้ที่ 1,720.50 จุด เพิ่มขึ้น 23.06 จุด ดัชนีเวทเต็ดตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 7,026.49 จุด ลดลง 19.73 จุด ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,357.74 จุด ลดลง 8.20 จุด ดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลียเปิดวันนี้ที่ 3,916.40 จุด เพิ่มขึ้น 13.20 จุด และดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,701.00 จุด เพิ่มขึ้น 2.20 จุด

ดัชนี MSCI Asia Pacific ร่วง 1.3% แตะ 110.23 จุด เมื่อเวลา 10.29 น.ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงโตเกียว

หุ้นฟานุค คอร์ป ร่วง 2.8% ส่วนหุ้นมิตซูบิชิ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทเทรดดิ้ง ร่วงกว่า 6.5% หุ้นฮันจิน ชิปปิ้ง ร่วงถึง 15% หลังจากที่บริษัทเปิดเผยว่าจะขายหุ้นใหม่ หุ้นนิปปอน อิเล็กทริก กลาส ดิ่ง 11% หลังจากที่บริษัทได้ปรับลดคาดการณ์กำไร

นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงคลังสหรัฐได้เรียกร้องให้ยุโรปดำเนินการมากกว่านี้ เพื่อป้องกันวิกฤตหนี้กรีซไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รมว.คลังสหรัฐกล่าวผ่านแถลงการณ์ภายหลังการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของประเทศต่างๆว่า การดำเนินการของประเทศในกลุ่มยูโรโซนเพื่อช่วยเหลือกรีซแก้ปัญหาในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมานั้นถือเป็นเรื่องที่น่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มการดำเนินการเพื่อพัฒนากลไกที่จะป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามออกไป

ไกธ์เนอร์กล่าวย้ำว่า ภาวะหนี้และภาวตึงตัวด้านแบงก์ในยุโรปนั้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่รุนแรงที่สุดสำหรับเศรษฐกิจโลก ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลและธนาคารกลางของยุโรปให้คำมั่นที่จะสร้างความเชื่อมั่นถึงความมั่นคงด้วยการใช้นโยบายการคลังที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นว่า ธนาคารในยุโรปจะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเพียงพอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าและเจ้าหนี้ของธนาคาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ