ทริส คงอันดับเครดิตองค์กร CPN ,จัดอันดับหุ้นกู้ใหม่ที่ระดับ A+/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 26, 2011 10:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ที่ระดับ “A+" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ของบริษัทในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทที่ระดับ “A+" ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์การค้า ตลอดจนผลงานในการบริหารศูนย์การค้าคุณภาพสูง กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าและค่าบริการ และนโยบายทางการเงินที่มีความระมัดระวัง ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความต้องการเงินลงทุนจำนวนมากเพื่อใช้รองรับแผนการขยายงานในช่วงปี 2554-2557 และการเปิดให้บริการใหม่ของศูนย์การค้าหลักของบริษัท 2 แห่งคือเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว และเซ็นทรัลเวิลด์

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของศูนย์การค้าไว้ได้ ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทมีแผนการจะใช้เงินลงทุนจำนวนมากสำหรับการขยายธุรกิจในช่วงปี 2554-2557 แต่ก็คาดว่าบริษัทจะรักษานโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังต่อไปโดยการดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1 เท่าในระยะปานกลาง CPN เป็นผู้พัฒนาศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศโดยมีตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 32% รองลงมาคือ บริษัท เซ็นทรัล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกของไทย (27%) การอยู่ในเครือเซ็นทรัลทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเป็นร้านค้าหลักภายในศูนย์การค้าของบริษัท

ณ เดือนมิถุนายน 2554 บริษัทเป็นผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าจำนวน 16 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดสำคัญโดยมีพื้นที่ค้าปลีกรวม 896,261 ตารางเมตร (ตร.ม.) บริษัทคงความเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารศูนย์การค้าในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเปรียบเทียบพื้นที่ค้าปลีกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 21% ณ เดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งปรับลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาเนื่องจากศูนย์การค้าที่บริษัทเปิดใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตต่างจังหวัด

CPN มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งจากการมีอัตราการเช่าพื้นที่ในระดับสูงและรายได้ค่าเช่าของศูนย์การค้าสาขาเดิมที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ บริษัทมีอัตราการเช่าศูนย์การค้าโดยเฉลี่ยที่ระดับ 96.8% ต่อปีในช่วงปี 2550 ถึงครึ่งแรกของปี 2554 ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 92.3% บริษัทเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา เชียงราย ในเดือนมีนาคม 2554 ศูนย์การค้าดังกล่าวมีอัตราการเช่าพื้นที่สูงถึง 98.8% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 รายได้ค่าเช่าของศูนย์การค้าสาขาเดิมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2554 โดยเพิ่มขึ้น 4.8% และ 6.7% ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ค่าเช่าและบริการของบริษัทลดลงเล็กน้อย 3% เป็น 9,822 ล้านบาทในปี 2553 จาก 10,178 ล้านบาทในปี 2552

สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่หายไปจากการปิดให้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์และการโอนสินทรัพย์ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้าให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปลายปี 2552 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 รายได้ค่าเช่าและบริการปรับตัวดีขึ้นเป็น 5,120 ล้านบาทจาก 4,900 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าวปิดปรับปรุงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม 2554 การเติบโตของรายได้ของบริษัทจึงมาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์หลังจากเปิดให้บริการอีกครั้งในปลายปี 2553 ทริสเรทติ้งกล่าวถึงอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ค่าเช่าและค่าบริการและรายได้จากการขายของบริษัทว่ายังคงแข็งแกร่งที่ 40.57% ในปี 2553 และ 42.59% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 กระแสเงินสดของบริษัทอ่อนตัวลง โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเป็น 12.37% ในปี 2553 และ 6.67% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในครึ่งแรกของปี 2554 จาก 23.67% ในปี 2552 เนื่องจากรายได้ที่หายไปของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ในปี 2553 และเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าวในปี 2554

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทน่าจะแข็งแกร่งขึ้นเมื่อศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์และเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าวกลับมาเปิดให้บริการเต็มที่ในปี 2555 อีกทั้งการเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา พระราม 9 ในปลายปี 2554 จะช่วยเสริมให้กระแสเงินสดของบริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต

บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากการทำสัญญาเช่าดำเนินงานฉบับใหม่สำหรับศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว และการกู้ยืมระยะยาวเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 51.32% ณ เดือนธันวาคม 2553 และ 53.06% ณ เดือนมิถุนายน 2554 เพิ่มขึ้นจาก 48.55% ณ เดือนธันวาคม 2552 ในระหว่างปี 2554-2557 บริษัทมีความต้องการใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาทต่อปีในการขยายธุรกิจ โดยเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน รวมทั้งจากการกู้ยืม และการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ