ROJNA คาดสิ้นปีกลับเข้านิคมฯโรจนะได้ แต่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูเป็นปีกว่าจะปกติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 27, 2011 12:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวอมรา เจริญกิจวัฒนกุล กรรมการ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า ขณะนี้บริษัทได้เตรียมการเพื่อระบายน้ำออกจากนิคมอุตสาหกรรมโรจนะโดยเร็ว โดยขอประเมินระดับน้ำในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ หากน้ำจากภาคเหนือไม่ไหลลงมาสมทบ ทำให้ระดับน้ำเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าระดับสันเขือน หรือไม่เกิน 2.5 เมตร บริษัทจะเร่งระบายน้ำออกจากนิคมฯ คาดว่าจะใช้เวลาในการระบายน้ำและเก็บกวาดขยะ ทำความสะอาดพื้นที่ประมาณ 1 เดือน

ส่วนการฟื้นฟูนิคมฯในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนน คงต้องมีการสำรวจความเสียหาย ส่วนระบบน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการให้พร้อมใช้งานรองรับความต้องการของลูกค้ารายแรกที่ต้องการกลับมาเดินเครื่องการผลิต ส่วนระบบไฟฟ้านั้น โรงไฟฟ้าในนิคมฯได้รับความเสียหาย ซึ่งการซ่อมแซมต้องใช้เวลา เพราะต้องนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ ดังนั้นจะมีการประสานงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อต่อสายไฟเข้าระบบสายส่ง ดังนั้นภายในสิ้นปี 54 คาดว่าน่าจะเริ่มกลับมาใช้งานในนิคมฯได้ แต่คงไม่เต็ม 100%

"ตอนนี้เราเตรียมผู้รับเหมา เตรียมอุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ กำลังคนไว้หมดแล้ว แต่รอดูระดับน้ำก่อนว่าลดลงต่ำกว่าระดับสันเขื่อนหรือไม่ คงต้องรอดูสถานการณ์ปลายเดือนอีกครั้ง...คาดว่าใช้เวลา 1 เดือนในการระบายน้ำ เก็บกวาดขยะ ส่วนการฟื้นฟูเราต้องเร่งระบบน้ำให้กลับมาโดยเร็วให้พร้อมใช้งานกับลูกค้ารายแรกที่ต้องการ เพียงแต่ตอนนี้ทุกคนยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ คงต้องดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง คาดว่าภายในสิ้นปีน่าจะเริ่มเดินเครื่องได้ แต่คงไม่เต็มร้อย ซึ่งกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติคงต้องใช้เวลาเป็นปี" นางสาวอมรา กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดสถานการณ์น้ำท่วม บริษัทไม่ได้มีการเร่งรัดกับลูกค้าที่อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อที่ดิน แต่ยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ลูกค้าต้องคำนึงการลงทุนในประเทศไทย และรอดูการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมถึงการป้องกันปัญหาในอนาคต เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลกระทบเฉพาะนักลงทุนภายในนิคมเท่านั้น แต่เป็นผลกระทบในวงกว้างต่อ supply chain ภายนอกด้วย

ทั้งนี้ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ซึ่งควรจะต้องมีการประกาศแผนแก้ปัญหาระยะสั้น และการแก้ปัญหาระยะยาวให้ออกมาเป็น package โดยเร็ว ขณะที่ในส่วนของนิคมฯ เตรียมแผนระยะสั้นเพื่อทำแนวป้องกันน้ำท่วม เพื่อสร้างแนวป้องกันล้อมรอบ แต่บางนิคมฯที่ไม่สามารถขยายได้อีก การลงทุนสร้างแนวป้องกันอาจต้องใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้นภาครัฐคงต้องขอรับการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ และให้วางแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำอีก

"ตอนนี้ยังไม่ใช่ timming ที่จะคุยกับลูกค้าเรื่องขายที่ดิน แต่สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา ทุกคนรอดูการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบเพื่อให้กลับมาเป็นปกติ และรอดูระบบป้องกันในอนาคต...หลายๆเรื่องคงต้องเจรจากับภาครัฐโดยตรง" นางสาวอมรา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ