นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 68 ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแสหลอกลงทุน รวม 2,735 ครั้ง ผ่านระบบรับแจ้งใน 6 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. (www.sec.or.th/scamalert) โทรศัพท์ (1207 กด 22) อีเมล ([email protected]) เดินทางมาที่สำนักงาน ระบบบริการสนทนา และไปรษณีย์
โดยมีบัญชีโซเชียลมีเดียเข้าข่ายหลอกลงทุนที่ประสานผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและหน่วยงานภาครัฐเพื่อปิดกั้นแล้ว จำนวน 1,849 บัญชี ผ่านแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ค 1,147 บัญชี TIKTOK 580 บัญชี LINE 44 บัญชี และ Instagram 21 บัญชี
โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้ปิดกั้นเพจหลอกลวงไปแล้ว 99.94% ภายในเวลา 7 นาที จนถึงใช้เวลามากสุด 48 ชั่วโมง และให้คำปรึกษาในเรื่องการหลอกลงทุน จำนวน 886 ครั้ง
ส่วนในปี 67 แจ้งปิดกั้นทุกช่องทาง รวม 3,388 บัญชี มากสุดผ่านแพลตฟอร์ม TIKTOK 1,817 บัญชี รองลงมาเป็นเฟซบุ๊ก 1,349 บัญชี Line 156 บัญชี
ความคืบหน้าการดำเนินการหลังจาก พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ และ พ.ร.ก. อาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ฉบับแก้ไขมีผลใช้บังคับ (13 เม.ย. 68)
- ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้มีการระงับบัญชีต้องสงสัยว่าเป็นบัญชีม้า ตามที่ได้รับข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ไปแล้วมากกว่า 27,000 บัญชี รวมมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 169.29 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 เม.ย.)
- การปิดช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีกระบวนการที่กระชับกว่าเดิม เนื่องจากมีการลดขั้นตอน