SCGP วางกลยุทธ์รับมือภาษีทรัมป์เร่งกระจายการผลิตและตลาดส่งออก มั่นใจตลาดอาเซียนยังแกร่ง่

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 8, 2025 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง [SCGP] เปิดเผยว่า กลยุทธ์รับมือมาตรการภาษีสหรัฐของบริษัท จะใช้การกระจายการผลิต และความเสี่ยงไปในหลายประเทศและตลาดที่เหมาะสม รวมทั้งกลยุทธ์และโอกาสทางธุรกิจอื่น ๆ โดยแบ่งผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐออกมาได้ 3 ระดับ

หนึ่งคือการส่งออกสู่สหรัฐอเมริกาโดยตรง มีสินค้าสำคัญประกอบไปด้วยบรรจุภัณฑ์โพลิเมอร์ กระดาษถ่ายเอกสาร บรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีฐานการผลิตอยู่ที่ไทยและเวียดนามเป็นหลัก คิดเป็นรายได้ 1,275 ล้านบาทในไตรมาส 1/68

สองคือผลกระทบต่อลูกค้า SCGP ที่มีการกระจายสินค้าไปสหรัฐฯสูง เช่น กลุ่มอาหารแปรรูปกระป๋องหรือถุงมือยาง โดยมีบรรจุภัณฑ์โพลิเมอร์ บรรจุภัณฑ์ไฟเบอร์ และกระดาษบรรจุภัณฑ์เป็นสินค้าหลัก ฐานการผลิตอยู่ที่ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ คิดเป็นรายได้ 966 ล้านบาทในไตรมาส 1/68

สามคืออุปสรรคจากจีนและความต้องการระหว่างประเทศชะลอตัว ปัจจุบันมีการส่งออกสินค้าประเภทกระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อเคมีละลายสู่จีนเป็นหลัก คิดเป็นรายได้ 2,029 ล้านบาทในไตรมาส 1/68 สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนอาจทำให้ความต้องการกระดาษนำเข้าในจีนลดลง มีกระจายสินค้าประเภทกระดาษจากจีนมาลงสู่บริเวณอาเซียนมากขึ้น และอาจทำให้กระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อเคมีละลายในอาเซียนถูกลงได้

นายวิชาญ กล่าวว่า กลยุทธ์รับมือการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก ในการดำเนินงานฝั่งอาเซียนจะเสริมการกระจายแหล่งรายได้ทั้งในภูมิภาคอาเซียน และภูมิภาคอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ เช่น เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง โอเชียเนีย รวมไปถึงร่วมมือกับลูกค้าและผู้ผลิต OEM เพื่อความสะดวกในการปรับเปลี่ยนหรือโยกย้ายฐานการผลิตไปอินโดนีเซียหรือมาเลเซียเป็นต้น

ส่วนการดำเนินงานฝั่งยุโรปจะพิจารณาให้ outsource บรรจุภัณฑ์อาหารในประเทศภายในยุโรปตะวันออก ประเทศตุรกีที่ถูกกำหนดภาษีเพียง 10% และจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในยุโรปมาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและความสอดคล้องการตลาดผ่านผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่าง Deltalab ในสเปนและ Bicappa ในอิตาลีที่ SCGP เป็นผู้ถือหุ้นสัดส่วนสูงสุดทั้งคู่

นอกจากนี้ยังมุ่งที่จะบูรณาการห่วงโซ่อุปทานเพื่อลูกค้า โดยจะใช้ทั้ง onshoring offshoring และ nearshoring ไปสู่บริเวณที่ถูกกำหนดภาษีน้อยกว่า และในกรณีที่อุปทานส่วนเกินจากจีน อินเดียเข้าสู่พื้นที่อาเซียนอาจจะทำให้ราคาของเครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเม็ดพลาสติกที่ใช้ในการผลิตถูกลงได้

นายดนัยเดช เกตุสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน SCGP กล่าวว่า แนวโน้มไตรมาส 2/68 คาดว่าราคาขายจะคงที่ ส่วนปริมาณการขายยังคงโตขึ้น โดยเฉพาะในบ้านและอาเซียน ถึงแม้ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาจะทำให้ปริมาณการขายลดลง แต่อุปสงค์ยังสูงเหมือนเดิมหลังพ้นช่วงวันหยุด และราคาวัตถุดิบ RCP มีโอกาสที่จะลดลง เชื่อว่าสัดส่วนรายได้จะใกล้เคียงไตรมาส 1/68

นายวิชาญ เปิดเผยว่า ภาพรวมปี 68 ที่เหลือมองว่าอุตสาหกรรมการผลิตอาเซียนยังมีการแข่งขันที่สูงพร้อมกับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแรง ตลาดอาเซียนจึงยังทำได้ดี โดยเฉพาะในไทย แต่ความไม่เสถียรของสถาบันการเงินอาจจะส่งผลต่ออัตราการแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยได้ ทั้งนี้ SCGP ก็ตั้งเป้าที่จะจับตลาดอาเซียน โดยขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ผู้บริโภค และพื้นที่ใหม่ ๆ เช่นอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงเปลี่ยนโฟกัสไปที่งานบริการและมอบโซลูชั่นกับลูกค้าแทนการขายสินค้า และเน้นย้ำไปที่การลดต้นทุนเพื่อการเติบโตเช่นกัน

นายวิชาญ กล่าวว่า SCGP ยังคงเป้าหมายปี 68 เดิมไว้ ซึ่งในส่วนของ EBITDA ที่ตั้งไว้ 18,000 ล้านบาท สามารถทำไปได้แล้ว 4,232 ล้านบาทในไตรมาส 1/68 และเป้าหมายการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและลดต้นทุนประมาณ 600 ล้านบาท สามารถทำไปได้ 185 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันจากการเพิ่มประสิทธิภาพและใช้พลังงานทดแทนในขั้นตอนการผลิต

เป้าหมายปี 68 ที่ผ่านได้แล้ว ได้แก่ สัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกที่ 39% ที่ปัจจุบันอยู่ 42% กับการเพิ่มสัดส่วนให้งานบริการและโซลูชันเป็นมากกว่า 37% ของการขายทั้งหมด สามารถทำไปได้ 39% แล้ว โดยเชื่อว่าการปรับตัวให้เป็นบริษัทมุ่งเน้นการตลาดแทนที่การผลิตจะช่วยลดความเสี่ยงจากมาตรการภาษีของสหรัฐได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ