
นายอนันต์ กิตติวิทยากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ [L&E] กล่าวว่า บริษัทมุ่งเน้นการเป็น Lighting Solution Provider ครบวงจร ด้วยการส่งมอบนวัตกรรมสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าหลักที่อยู่ภายใต้กลยุทธ์ "Flagship Manufacturing Focused" ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของแผนการเติบโตในปีนี้ ด้วยการเน้นผลิตเป็นรุ่นๆที่แข่งขันได้ในปริมาณมากเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย และทำให้สามารถแข่งขันในตลาดที่มีการแข่งขันสูงได้ พร้อมทั้งบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพ
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 68 แม้ว่าภาพรวมตลาดที่ผันผวน และมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง แต่ภาคการผลิตของโรงงานในเครือที่เข้มแข็ง สนับสนุนให้ L&E สามารถเจาะตลาดลูกค้ารายใหญ่ภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มห้างค้าปลีกรายใหญ่ของไทยเริ่มเปลี่ยนมาสั่งซื้อจาก L&E แทนการนำเข้าเองจากต่างประเทศ เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าและความสามารถในการส่งมอบที่รวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้รับคำสั่งซื้อที่มีศักยภาพจากโครงการไฟถนน จากงานประมูลของการไฟฟ้านครหลวง 60,000 ชุด ซึ่งได้รายงานไปก่อนหน้านี้ เป็นอีกบทพิสูจน์ว่า ราคาสามารถแข่งขันได้
นอกจากนี้การขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศ ทั้งโครงการในออสเตรเลีย มาเลเซีย และกัมพูชา รวมทั้ง เตรียมส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ผ่านเครือข่ายพันธมิตรที่ใช้โรงงานในเครือ LEM & LES ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่เข้มแข็ง และสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน มองว่าจากการที่โรงงานต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยมากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสการใช้ห่วงโซ่การผลิตจากโรงงานในเครือ อย่างไรก็ตามแม้บริษัทไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ (Trump tariffs) แต่ยังได้รับผลทางอ้อมจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหว และมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่กดดันภาพรวมความเชื่อมั่นในตลาดก่อสร้าง
โดยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/68 บริษัทมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 514 ล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของโครงการก่อสร้างอาคารสูงเพื่อที่อยู่อาศัยและสำนักงาน รวมถึงมีงานโครงการมูลค่าราว 47 ล้านบาท ที่ต้องเลื่อนการส่งมอบงานและรับรู้รายได้ไปในไตรมาสถัดไป นอกจากนี้ราคาขายต่อหน่วยที่ปรับตัวลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรง ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อรายได้ของบริษัท แม้ยอดขายของสินค้ากลุ่ม Manufacturing Focus ซึ่งบริษัทได้พัฒนาจนสามารถแข่งขันกับสินค้าจากจีนได้ จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม
ส่งผลให้บริษัทมียอดขาดทุนสุทธิ 35.3 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากยอดขายที่ลดลง และในไตรมาสนี้มีรายการขายสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำให้กับรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยปรับตัวลดลงจาก 35.5% ในปี 67 เป็น 32.8% ในไตรมาส 1/68 รวมถึงผลกระทบจากกำไร/ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
ขณะที่ในไตรมาส 1/68 L&E ยังมีคำสั่งซื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการปรับปรุงไฟส่องสว่างของ Lotus Mini Supermarkets กว่า 150 สาขา, แม็คโคร 10 สาขา รวมถึงโครงการไฟสนามบิน 22 แห่งทั่วประเทศ และตามปกติ รายได้ 70% ของบริษัทจะมาจากงานโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่จะรับรู้ในครึ่งปีหลังของปี ดังนั้นจังหวะการฟื้นตัวในไตรมาส 2 จะเป็นจุดเริ่มของภาพรวมที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และเราจะประเมินเป้าหมายรายได้ทั้งปีที่ตั้งไว้โต 1520% อีกครั้งหลังจบครึ่งปีแรก
"แม้สถานการณ์ยังมีความผันผวน แต่เรายังเชื่อมั่นว่าด้วยพื้นฐานการผลิตที่แข็งแรง และการวางกลยุทธ์สินค้าอย่างแม่นยำ จะช่วยให้ L&E พลิกกลับมาสู่เส้นทางการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต" นายอนันต์ กล่าว