มองมุมต่าง: ถึงคิว "ก.ล.ต.-คปภ.-ธปท." คุมเข้ม Finfluencer-แอดมินเพจการเงิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 14, 2025 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มองมุมต่าง: ถึงคิว

ในยุคที่ประชาชนเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องการเงินมากขึ้น ทั้งการออม การลงทุน การวางแผนเกษียณ รวมถึงการประกันภัย ซึ่งเคยเป็นเรื่องเข้าใจยาก Finfluencer หรือ "Influencer ด้านการเงิน" จึงกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนเรื่องซับซ้อนเหล่านี้ให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย น่าติดตาม และใกล้ตัวมากขึ้น ผ่านการสื่อสารด้วยภาษาที่เป็นกันเอง ไม่เป็นทางการเกินไป และเข้าถึงได้ผ่านแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Facebook, TikTok และ YouTube

อย่างไรก็ตาม ยิ่งมีผู้ติดตามมากขึ้น Finfluencer ก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้คนมากขึ้นตามไปด้วย และพลังในการสื่อสารนี้ แม้จะมีประโยชน์มหาศาล แต่ก็ต้องมาคู่กับ "ความรับผิดชอบ" ที่เข้มข้นยิ่งกว่าเดิม

มองมุมต่าง: ถึงคิว

ล่าสุด 3 หน่วยงานทางการเงินของรัฐ คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ,ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ให้การสนับสนุน ร่วมกันจัดทำโครงการ "Responsible Voices สำหรับ Finfluencer" ในการเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ฟินฟลูเอนเซอร์ภาคการเงิน การลงทุน และประกันภัย เพื่อให้เผยแพร่ข้อมูลให้แก่ผู้ติดตามได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และตระหนักถึงความสำคัญของการให้ข้อมูลอย่างมีความรับผิดชอบ

โดยมองประโยชน์ของ Finfluencer มีดังนี้

1. ช่วยทำให้เรื่องการเงินให้เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน

Finfluencer ช่วยเปลี่ยนเรื่องการเงินที่เคยถูกมองว่าเข้าใจยาก ให้กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน

- อธิบายแนวคิดซับซ้อน เช่น ดอกเบี้ยทบต้น การจัดพอร์ต ความเสี่ยง ด้วยภาษาง่ายๆ

- ใช้ตัวอย่างชีวิตจริงหรือเรื่องเล่าสนุกๆ ช่วยให้คนรุ่นใหม่กล้าเริ่มต้น

- เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลากหลายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

2. สร้างแรงบันดาลใจให้เรียนรู้ต่อยอด เนื้อหาของ Finfluencer ช่วยจุดประกายให้คนเริ่มสนใจ และต่อยอดสู่การเรียนรู้เชิงลึก

- หลายคนเริ่มต้นจากคลิปสั้นๆ แล้วพัฒนาไปอ่านหนังสือ ลงคอร์สเรียน หรือวางแผนการเงินจริงจัง

- เกิดพฤติกรรมที่ดี เช่น การออมประจำ การลงทุนอย่างมีแผน การวางแผนเกษียณเร็วขึ้น

3. เปิดโลกความรู้เฉพาะทางที่มักถูกมองข้าม Finfluencer ช่วยนำเสนอเรื่องที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดหรือมองข้าม เช่น ประกันภัย

- อธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่างประกันชีวิต สุขภาพ อุบัติเหตุ

- เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ประกันภัยด้วยภาษาง่าย ช่วยลดการซื้อเพราะถูกชักจูง

- สร้างมุมมองใหม่ว่า ประกันภัยคือการบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่ภาระทางการเงิน


*"เหรียญมักมีสองด้านเสมอ"

ในเรื่องของผลประโยชน์ มักจะมีเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นควบคู่เช่นเดียวกัน

เมื่อความน่าเชื่อถือกลายเป็นความเสี่ยง แม้ Finfluencer จะช่วยเปิดโลกการเงินให้คนจำนวนมาก แต่ก็มีกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า หากขาดความรับผิดชอบ หรือ ให้ข้อมูลที่บิดเบือน อาจนำไปสู่ความเสียหายที่รุนแรงได้ อาทิ

1. Kim Kardashian กับ EthereumMax เธอโปรโมทเหรียญคริปโทฯ ผ่าน Instagram โดยไม่เปิดเผยว่าได้รับค่าจ้าง ส่งผลให้นักลงทุนจำนวนมากขาดทุนอย่างหนัก สุดท้ายเธอถูก SEC สหรัฐปรับกว่า 1.26 ล้านดอลลาร์

2. คดีเมจิกสกินในอดีตของไทยมีดาราและ Finfluencer รีวิวอาหารเสริมโดยไม่ตรวจสอบคุณภาพจริง ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ และนำไปสู่การดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง

3. Elon Musk กับ Dogecoin เพียงแค่ทวีตไม่กี่คำ ราคาคริปโทฯ ก็พุ่งสูงแล้วตกลงทันที นักลงทุนรายย่อยที่ตามกระแสจำนวนมากขาดทุนหนัก จนเกิดข้อกล่าวหาปั่นราคาคริปโทฯ


  • ข้อควรระวังเมื่อเสพเนื้อหาทางการเงินจาก Finfluencer

1. ตรวจสอบว่า Finfluencer มีใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ ก่อนเชื่อคำแนะนำให้ซื้อหุ้น กองทุน หรือประกัน ควรตรวจสอบว่าเขาได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือ คปภ. จริงหรือไม่ เพราะหากไม่มีใบอนุญาตอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย และผู้บริโภคไม่มีที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา

2. อย่าหลงเชื่อโฆษณาที่อวดผลตอบแทนเกินจริง หรือเทคนิคที่ไม่มีหลักฐานทางวิชาการ เช่น โฆษณาว่า "ลงทุนกำไร 100% ทุกเดือน", "เทรดคริปโทฯไม่มีวันขาดทุน", หรือ "สูตรลับสร้างเงินล้านใน 7 วัน" ซึ่งล้วนเป็นคำกล่าวอ้างเว่อร์เกินจริง ที่ scammer มักใช้เพื่อจูงใจคนให้หลงเชื่อและโอนเงินโดยไม่ไตร่ตรอง

3. ระวังการรีวิวที่ไม่เปิดเผยผลประโยชน์หรือเจตนาที่แท้จริง บางคนอาจแฝงตัวเป็น Finfluencer แต่จริงๆ แล้วเป็น scammer ที่รีวิวเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองโดยไม่เปิดเผยว่ารับสปอนเซอร์หรือมีส่วนได้เสีย หากไม่มีความโปร่งใส อาจทำให้ผู้ติดตามเข้าใจผิดและเสียประโยชน์

4. ระวังข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ได้ตรวจสอบ อาทิ มีข่าวลือว่า ธนาคารจะล้ม , หุ้นตัวนี้กำลังจะขึ้น 300% หรือ รีบซื้อก่อนรัฐประกาศนโยบายใหม่ ที่มักมากับบัญชีปลอม หรือ scammer ที่ตั้งใจสร้างกระแสให้คนหลงเชื่อแล้วแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว

5. ระวังบัญชีปลอมที่แฝงตัวมาในคราบ Finfluencer มีกรณีที่ scammer ปลอมบัญชีให้ดูคล้าย Influencer ตัวจริง แล้วทักแชทหรือส่งลิงก์ปลอมมาให้กรอกข้อมูลหรือโอนเงิน อย่าหลงเชื่อแม้แต่โลโก้หรือชื่อเพจที่คล้าย เพราะ scammer ในยุคนี้ปลอมตัวได้แนบเนียนมาก

ทั้งนี้ Finfluencer คือผู้มีอิทธิพลในการสร้างความรู้ทางการเงินและประกันภัยให้กับสังคม หากดำเนินบทบาทด้วยความรับผิดชอบ โปร่งใส และอิงหลักการที่ถูกต้อง ก็จะเป็นพลังบวกที่ช่วยให้ประชาชนรู้เท่าทัน ตัดสินใจได้อย่างมีคุณภาพ และลดความเสี่ยงทางการเงินในชีวิตได้จริง

ในทางกลับกัน หากขาดจรรยาบรรณ ใช้ความน่าเชื่อถือโดยประมาท หรือจงใจให้ข้อมูลผิดพลาด (โดยเฉพาะหากเป็น scammer) ก็อาจส่งผลเสียทั้งต่อผู้ติดตามและตัว Finfluencer เองในระยะยาว

ทางที่ดีที่สุด คือ ฟังได้ คิดตามได้ แต่อย่าตัดสินใจทางการเงินเพียงเพราะ "ชอบคนพูด" เพราะสุดท้ายคนที่รับผลลัพธ์คือ "ตัวเราเอง" เพราะบทเรียนมีให้เห็นมาแล้วอย่างมากมายว่าไม่มี Finfluencer รายใดจะออกมารับผิดชอบความเสี่ยงเป็นตัวเงินที่เสียหายไปจากการหลงเชื่อคำแนะนำคืนให้กับ "ลูกเพจ" หรือ "แฟนเพจ" ของตนเองเลย

หนำซ้ำ ยังเก็บค่าสมาชิก รายเดือน รายปี หรือ ค่าคอร์สอบรมไปก่อนหน้านี้ กลายเป็นได้ผลประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งร่อง อย่างง่ายดาย โดยความเสี่ยงทั้งหมดตกไปอยู่กับ "ผู้ที่หลงเชื่อ" แบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

ธิติ ภัทรยลรดี



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ