
บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร [CPF] เผยผลดำเนินงานในไตรมาส 1/68 มีกำไรสุทธิ 8,549 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 642% หรือโต 6 เท่าที่มีกำไรสุทธิ 1,152 ล้านบาท จากความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ และความเคร่งครัดของระบบป้องกันโรคในฟาร์มที่เข้มงวด ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาชีวอนามัยท่ามกลางโรคระบาด สะท้อนศักยภาพผู้นำเกษตรอาหารที่ให้ความสำคัญด้านประสิทธิภาพ
ขณะที่บริษัทมีรายได้จากการขายในไตรมาส 1/68 จำนวน 144,175 ล้านบาท เป็นส่วนของกิจการต่างประเทศ ร้อยละ 62 และกิจการประเทศไทยร้อยละ 38 รายได้จากการขายรวมเพิ่มขึ้น 3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ กำไรสุทธิที่สูงขึ้นมาจากระดับราคาสุกรในหลายประเทศอันรวมถึงประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และไทย อยู่ในระดับที่สูงกว่าปี 2567 จากการปรับสมดุลของอุตสาหกรรมจากภาวะสินค้าล้นตลาดในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับปริมาณสุกรในต้นปีนี้มีจำนวนลดลงจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นในหลายประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 มาถึงปัจจุบัน
อีกทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากการบริหารลดต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าจำนวน 3,443 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 92% โดยหลักมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของบริษัทร่วมในประเทศจีนที่ดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์และสุกร บมจ. ซีพี ออลล์ [CPALL] และการร่วมค้าในประเทศแคนาดา
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF กล่าวว่า การที่บริษัทมีผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปีนี้ดีเด่นขึ้น มาจากการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ประกอบกับการระบาดของโรคสัตว์โดยเฉพาะไข้หวัดนกซึ่งกระจายไปหลายประเทศทั่วโลก และโรค ASF ของสุกรที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ มีผลทำให้จำนวนไก่และสุกรมีน้อยกว่าปกติ ตลอดจนราคาวัตถุดิบอยู่ในฐานที่ยังไม่สูงเกินไป ทำให้ผลการดำเนินงานดีกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ซีพีเอฟลงทุนไว้มากกว่า 10 ประเทศ
ผลประกอบการที่โดดเด่นในไตรมาสแรกปีนี้ เป็นบทพิสูจน์ถึงความทุ่มเทของทีมงานทั่วโลกและความสามารถในการปรับตัวอย่างยั่งยืนในทุกสภาพแวดล้อม การลงทุนของบริษัทที่เน้นเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนการนำระบบ IT ที่นำมาใช้ในเรื่องการบริหารจัดการ รวมทั้งความมุ่งมั่นในการยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพและการป้องกันโรคในการเลี้ยงสัตว์อย่างเป็นระบบ ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน บริษัทจึงสามารถรักษาเสถียรภาพในการผลิตและสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง
ประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของซีพีเอฟในปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่บริษัทได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมมีการปรับสมดุลจากความท้าทายในอดีต ในส่วนของปัญหาความปั่นป่วนจากเรื่องภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ได้มีผลกระทบกับซีพีเอฟ เพราะซีพีเอฟมีการลงทุนในธุรกิจอาหารพื้นฐานที่ราคาไม่แพง มีการผลิตอยู่ในกว่า 10 ประเทศและขายในประเทศนั้นเป็นหลัก ขณะที่บริษัทพึ่งพาการส่งออกประมาณ 4-5% โดยการส่งออกส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศในเอเซีย เช่น ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศยุโรปเป็นหลัก มีการส่งออกไปสหรัฐฯ ประมาณ 0.3% เท่านั้น
ทั้งนี้ จากภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้นในการเลี้ยงสัตว์ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงโควิดที่กลับมาในช่วงนี้ ผู้บริหารทุกคนได้ให้ความสำคัญด้านการบริหารงานภายใต้แนวทางการบริหารความเสี่ยงรอบด้าน ลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดีที่ชัดเจน และที่สำคัญได้ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการผลิต การป้องกันโรคระบาดตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาชีวอนามัยในการดำเนินงานอย่างครอบคลุม