(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้าแกว่งในกรอบ ไร้ปัจจัยใหม่ เกาะติดดีลเจรจา"ทรัมป์-สีจิ้นผิง"-ตัวเลข PPI-ยอดค้าปลีกสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 15, 2025 09:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรภัทร วรเชษฐ์ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.กรุงศรี กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดดัชนีแกว่งตัวในกรอบแคบ ตอบรับข่าวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ อาจเข้าพบ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เร็ว ๆ นี้ เพื่อหาข้อสรุปสงครามการค้าสหรัฐ-จีน หลัง 2 ประเทศได้ข้อตกลงลดกำแพงภาษีชั่วคราวไปแล้ว

ขณะที่ในประเทศ ตอนนี้ยังไร้ปัจจัยใหม่ให้ติดตาม ท่ามกลางบรรยากาศเศรษฐกิจที่เริ่มเติบโตช้าลง พร้อมให้แนวต้าน 1,230 จุด แนวรับ 1,207 จุด

ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส คาด SET Index จะแกว่งไซด์เวย์ ในกรอบ 1,210-1,225 จุดหลังจากตอบรับเชิงบวกต่อสงครามการค้าที่ผ่อนคลายลงไปมากพอสมควรแล้ว ขณะที่ระยะสั้นยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้น โดยรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อ PPI และยอดค้าปลีกเดือน เม.ย.ของสหรัฐคืนนี้ โดยหากตัวเลขยังออกมาในเชิงบวกอย่างเช่น CPI ในช่วงต้นสัปดาห์ จะเป็นปัจจัยหนุนสินทรัพย์เสี่ยงให้ฟื้นตัวต่อไประยะสั้น จากแรงกดดันต่อธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ในการดำเนินนโยบายการเงินที่ลดลง

ขณะที่ความคาดหวังเชิงบวกต่อดีลการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศต่าง ๆ ยังเป็นปัจจัยหนุนและทำให้ตลาดประเมินความเสี่ยง Recession ของเศรษฐกิจสหรัฐต่ำลงจากเดือนก่อน สำหรับไทยมีการเปิดเผย 5 ข้อเสนอทางการค้าจูงใจสหรัฐฯซึ่งต้องดูว่าจะได้คิวเจรจาการค้าเมื่อไร

ด้านผลประกอบการไตรมาส 1/68 ของบจ. ล่าสุดเท่าที่ประกาศออกมาแล้ว โดยรวมดีกว่าตลาดคาดราว 6% ซึ่งนำโดยหุ้นขนาดใหญ่เป็นหลัก ทำให้ภาพรวม Bloomberg EPS ของ SET ปัจจุบันยังทรงตัวที่ราว 90 บาท หลังจากถูกปรับลงจากเดือนก่อนที่ราว 93 บาท ยังมองการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการใช้จ่ายจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มกำไรบจ.ในไตรมาส 2/68 ถึงครึ่งหลังปี 68รวมถึงจำกัด Upside ของ SET Index มากขึ้น จึงยังเน้นเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรแข็งแกร่งและมั่นคง โดยเฉพาะสินค้าบริการจำเป็นที่ราคายัง Laggard กว่าตลาด ซึ่งมีโอกาสกลับมา Outperform หลัง SET ฟื้นตัวจาก Low มาแล้วราว 16%


*ประเด็นพิจารณาการลงทุน


- ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (14 พ.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 42,051.06 จุด ลดลง 89.37 จุด หรือ -0.21%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,892.58 จุด เพิ่มขึ้น 6.03 จุด หรือ +0.10% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 19,146.81 จุด เพิ่มขึ้น 136.72 จุด หรือ +0.72%

- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดที่ระดับ 37,832.36 จุด ลดลง 295.77 จุด หรือ -0.78%, ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนเปิดที่ระดับ 3,398.43 จุด ลดลง 5.52 จุด หรือ -0.16% และดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดที่ระดับ 23,644.40 จุด เพิ่มขึ้น 3.75 จุด หรือ +0.02%

- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (14 พ.ค.) 1,216.71 จุด เพิ่มขึ้น 2.32 จุด (+0.19%) มูลค่าซื้อขาย 43,111.85 ล้านบาท

- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ (14 พ.ค.) 416.13 ล้านบาท

- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. (14 พ.ค.) ลดลง 52 เซนต์ หรือ 0.82% ปิดที่ 63.15 ดอลลาร์/บาร์เรล

- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (43 พ.ค.) 6.60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

- เงินบาทเปิด 33.43 อ่อนค่าหลังดอลลาร์รีบาวด์ ตลาดรอประเมินเศรษฐกิจสหรัฐ-ทิศทางเฟด

- "พิชัย" มั่นใจ 5 ข้อเสนอไทย ที่ส่งถึง USTR โดนใจสหรัฐ มุ่งลดเกินดุล เพิ่มนำเข้าสินค้าและลงทุนในสหรัฐ เชื่อลดภาษีจาก 36% เหลือแค่ 10% ได้ ตามพื้นฐานที่สหรัฐเก็บจากประเทศอื่น ประธานผู้แทนการค้าไทยบุกสหรัฐ หารือหนุนไทย ลงทุนเพิ่มเสนอโมเดล joint manufacturing เพิ่มมูลค่าและการสร้างงานทั้งสองประเทศ

- ธปท. ย้ำพื้นที่ "ดอกเบี้ย" เหลือจำกัด ภายใต้ดอกเบี้ยปัจจุบันที่ลดลงมาอยู่ที่ 1.75% รับห่วง "ลงทุนชะลอ" ต้นตอฉุด "ศักยภาพเศรษฐกิจ" ดังนั้น จำเป็นต้องเก็บกระสุนไว้ใช้ในอนาคต เหตุ "เศรษฐกิจโลก-ไทย" ไม่แน่นอนระดับสูง จาก "สงครามการค้า" โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง ขณะที่ "เงินเฟ้อทั่วไป" ต่ำกว่ากรอบ ตามราคาพลังงานและโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง

- ประชุมบอร์ดบีโอไอ 19 พ.ค.นี้ พิจารณาออกมาตรการใหม่ เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย หวังลดผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ รวมทั้งนำแนวทางมาตรการที่ใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์มาขยายผลสู่อุตฯ อื่น เผยงาน "SUBCON Thailand 2025" เสริมแกร่งซัปพลายเชนไทยจับคู่ธุรกิจอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค ก้าวสู่การผลิตยุคใหม่

- ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ และจีน สามารถบรรลุข้อตกลงการเจรจาปรับลดภาษีตอบโต้ ในเบื้องต้น 90 วัน โดยจีนเก็บภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าสหรัฐฯ ที่ 10% สหรัฐฯ เก็บจากจีนที่ 30% ว่า ช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกของระบบการค้าโลกได้มาก เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก ส่งผลดีเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้าน ด้านแรก การลดภาษีระหว่าง 2 มหาอำนาจจะช่วยให้การขยายเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ไม่ชะลอตัวลงแรง ส่งผลให้การค้าโลกปรับตัวดีขึ้น ดีต่อการส่งออกของไทยในระยะสั้น

- ตลท. มอง "หุ้นไทย" เริ่มมีสัญญาณเชิงบวก อานิสงส์เม็ดเงิน "กองทุน ไทยอีเอสจี เอ็กซ์" ไหลเข้า หวังเม็ดเงิน "แอลทีเอฟ" สับเปลี่ยนเพิ่ม พร้อมชี้เงินทุน "ต่างชาติ" เริ่มหยุดไหลออก และมีโอกาสไหลกลับเข้าตลาดพันธบัตรไทย ลุ้นตลาดครึ่งปีหลังสดใส ดันดัชนีฯ ยืนเหนือระดับ 1,200 จุด เหตุพื้นฐาน บจ.แกร่ง และมาตรการ Jump plus ดึงดูดลงทุนระยะยาว

- เลขานุการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยความคืบหน้าโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งว่า เบื้องต้นจำนวนสิทธิในการสนับสนุนการเดินทางจากรัฐบาลจะอยู่ที่ 1 ล้านสิทธิ เป็นการสมทบค่าโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ในสัดส่วน 50% ไม่แตกต่างจากเดิม ยกเว้นตั๋วเครื่องบินเท่านั้นที่ไม่สามารถใช้งานได้


*หุ้นเด่นวันนี้

- CPF (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 30 บาท กำไรสุทธิไตรมาส 1/68 เท่ากับ 8.55 พันลบ. +105% q-q, +642% y-y ดีกว่าคาด 31% แม้รายได้จะต่ำกว่าคาดเล็กน้อยจากผลของ FX แต่ได้แรงหนุนจาก Gross Margin ที่ดีกว่าคาด ทำนิวไฮในรอบ 16 ไตรมาส ด้านส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วมยังแข็งแกร่ง +92% y-y มาจาก CPALL, Hylife และ CTI โดยกำไรสุทธิ ไตรมาส 1/68 คิดเป็น 39% ของประมาณการทั้งปี แนวโน้มกำไร ไตรมาส 2/68 ยังดูดีต่อเนื่อง จากราคาหมูที่ปรับขึ้นต่อ โดยเฉพาะหมูไทย +6-8% q-q ส่วนราคาหมูเวียดนามและไก่ไทยยังทรงตัวสูง อยู่ในระดับที่มีกำไรดี

- STECON (เมย์แบงก์) เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 9.00 บาท กำไรไตรมาส 1/68 แข็งแกร่ง ไตรมาสถัดไปมีปัจจัยหนุน

เราคาดกำไรงวดไตรมาส 1/68  ที่ 256 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนในไตรมาสก่อนที่ 1.2 พันล้านบาท เนื่องจากมีการตั้งสำรองทั้งโครงการบึงหนองบอน, MRT สายสีเหลืองและชมพู อีกทั้งตั้งสำรองเกี่ยวกับโครงการ CFP ของ TOP และปรับตัวขึ้นเทียบกับปีก่อนจาก อัตรากำไรที่ดีขึ้นตาม Product Mix ส่วนกำไรในงวดไตรมาส 2/68 เติบโตเทียบกับปีก่อน หนุนจากปรับวิธีการรับรู้ MRT สายสีเหลืองและชมพู จาก Equity method เป็น financial asset (ไม่รับรู้ผ่านกำไรปกติ) โดย ณ ราคาปัจจุบัน ถูกซื้อขาย PE68 ที่ 13.8 เท่า ตามลำดับ (-0.4SD ของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี)

- TIDLOR (กสิกรไทย) ราคาพื้นฐาน 19.75 บาท เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ TIDLOR จากแนวโน้มการเติบโตของกำไรในไตรมาส 2/68 จะเพิ่มขึ้นทั้ง YoY, QoQ หนุนโดยการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ยังคงควบคุมได้ดี ทั้งนี้ผู้บริหารคาดว่าอัตราหนี้เสีย (NPL) จะทรงตัว และต้นทุนเครดิตรวมถึงการก่อเกิด NPL ยังอยู่ในทิศทางที่จะต่ำกว่า 3% เมื่อเทียบกับประมาณการปัจจุบันที่3.1% ในส่วนต้นทุนทางการเงิน คาดว่าเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว โดยจะปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 2/68 ถึงไตรมาส 3/68 โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 15 bps ก่อนจะค่อยๆ ลดลงในช่วงปี 2026-2027


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ