
นายธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น [TAN] เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 1/68 บริษัทมีรายได้รวม 485 ล้านบาท เติบโต 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สะท้อนความสามารถในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความผันผวน โดยธุรกิจ HARNN ในจีนเติบโตอย่างโดดเด่น ขณะที่กลุ่มแฟชั่นยังคงขยายฐานลูกค้าได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 39 ล้านบาท ลดลง 34.5% จากปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักจากการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจในระยะยาว และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังชะลอตัวจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา

"ภาพรวมของไตรมาสแรกปีนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นปีที่เรายังคงเดินหน้าในทิศทางเชิงบวก โดยเฉพาะการเติบโตจากธุรกิจในต่างประเทศซึ่งแสดงศักยภาพได้อย่างชัดเจน รวมถึงการต่อยอดความสำเร็จในกลุ่มแฟชั่นและการเดินหน้าของการขยายธุรกิจร้านอาหารในประเทศ แม้กำไรสุทธิจะปรับตัวลดลงจากการลงทุนเพื่ออนาคต แต่เรายังเชื่อมั่นว่าทิศทางการเติบโตในระยะยาวยังคงแข็งแกร่ง"
ในไตรมาส 1/68 ธุรกิจต่างประเทศสร้างรายได้รวม 51.6 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 200% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะ HARNN Greater China ประเทศจีน มีสัดส่วนมากที่สุดในกลุ่มกิจการต่างประเทศ สามารถรับรู้รายได้จากการจัดจำหน่ายสินค้า HARNN ในร้านค้า Cosmetic Chain Store, Specialty Store รวมมากกว่า 200 จุดขายใน 6 มณฑล ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง เหอหนาน เฮยหลงเจียง เจียงซู เจ้อเจียง และธิเบต และยังมีร้าน Concept Store ภายใต้แบรนด์ HARNN อยู่ 2 สาขา ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และเซิ่นเจิ้น อีกทั้งยังมีรายได้จากช่องทางออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการขายสินค้าในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจในจีนนั้นสามารถสร้างสัดส่วนยอดขายได้ถึง 68% จากยอดขายรวมในประเทศจีนผ่าน E-commerce platform และ Livestreaming ต่างๆ เช่น T-Mall, Xiao Hong Shu, Douyin, JD.com
ขณะที่ประเทศ เวียดนาม ก็เติบโตอย่างโดดเด่นจากกลยุทธ์ออนไลน์ จากการมีเครือข่าย KOLs ที่แข็งแกร่ง และการสร้างแบรนด์ HARNN และ Cath Kidston ซึ่งมีร้านค้าอยู่ในเมืองโฮจิมินห์ และฮานอย รวม 11 สาขา สำหรับ ประเทศญี่ปุ่น สามารถลดผลขาดทุนลงได้ดีขึ้นมากจากการควบคุมต้นทุนและการปรับกลยุทธ์ด้านสปาและการกระจายสินค้าผ่านคู่ค้าในจังหวัดต่างๆ
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รายได้จากการขายและบริการในกลุ่ม ธุรกิจในประเทศ อยู่ที่ 425.3 ล้านบาท ลดลง 3.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสามารถแบ่งรายได้แยกตามกลุ่มธุรกิจดังนี้ กลุ่มไลฟ์สไตล์ มีสัดส่วน 51% โดยแบรนด์ Pandora เผชิญแรงกดดันจากการปรับราคาสินค้าและจำนวนคอลเลกชันที่ลดลงมากในไตรมาสนี้ ขณะที่ Cath Kidston ยังคงเติบโตจากปีก่อนหน้าได้ต่อเนื่องแม้มีการปิดจำนวนสาขาเพิ่มขึ้น กลุ่มแฟชั่น มีสัดส่วน 23% ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดแข็งของบริษัทฯ มีแบรนด์หลักอย่าง Marimekko และ GANNI ที่สร้างฐานลูกค้าได้มั่นคง
ในขณะเดียวกัน แบรนด์ใหม่ United Arrows และ MM6 Maison Margiela สะท้อนความสามารถในการขยายฐานลูกค้าได้ต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มแฟชั่นยังคงเติบโตอย่างมีศักยภาพ กลุ่มความงามและเวลเนส มีสัดส่วน 17% จากการขยายผลิตภัณฑ์และบริการของ HARNN ที่ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม มีสัดส่วน 8% จากกลุ่ม Gordon Ramsay เติบโตและได้การตอบรับที่ดีของลูกค้าต่อคุณภาพอาหารและบริการ รวมทั้งจากการเปิดสาขาที่ 2 ของ Bread Street Kitchen & Bar ที่ ไอคอนสยาม เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา
นายธนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "แม้บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนสำหรับการขยายสาขาในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการสร้างยอดขายให้ถึงจุดคุ้มทุน แต่ยังคงมุ่งเน้นการ ควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัย เรามุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินงานในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการขาย (Retail Operation) ซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจ ทั้งการฝึกอบรมพนักงาน การออกแบบประสบการณ์ลูกค้าในร้าน และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับคุณค่าที่เหนือความคาดหวัง"
ทั้งนี้ ไตรมาส 2/68 โดยทั่วไปถือเป็นช่วง Low Season ทางบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์เชิงรุกในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับ 3 แกนหลัก ได้แก่ 1) การขยายฐานลูกค้าใหม่อย่างมีเป้าหมาย โดยการเพิ่มแบรนด์แอคทีฟแวร์ ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศบราซิล เข้าในพอร์ตกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ 2) การยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานในทุกมิติ โดยเฉพาะการบริหารหน้าร้านและการฝึกอบรมทีมขาย และ 3) การควบคุมต้นทุนและบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัย เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และสร้างความแข็งแกร่งและผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้นในระยะยาว