เจ้าหน้าที่ตำรวจขอออกหมายจับผู้กระทำความผิดรวม 17 รายจากเหตุการณ์อาคารก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ความสูง 30 ชั้นถล่มเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และ เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งผู้กระทำผิดประกอบด้วยผู้บริหารบริษัทผู้รับเหมา กิจการร่วมค้า ITD-CREC รวมทั้งวิศวกร และผู้ควบคุมงาน
เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งค้นพบแล้ว 89 ราย ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย สูญหาย 11 ราย จึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้ง 17 ราย ในฐานะนิติบุคคล และส่วนตัว ฐานเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุม หรือ ทำการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้น ๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 227 , 238
ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. มีคำสั่งให้แต่งตั้ง คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยมี พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รองผบช.น. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน และ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ทำการสอบสวนในคดีดังกล่าว
จากการตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งเอกสารและพยานบุคคล พบว่าแบบแปลนการก่อสร้างไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงและมาตรฐาน กลุ่มกำแพงปล่องลิฟต์ไม่ได้อยู่ตรงกลางอาคารแต่ชิดขอบด้านหลัง ทำให้ศูนย์กลางการบิดตัวของอาคารเยื้องไปจากศูนย์กลาง เมื่ออาคารแกว่งตัวจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค.เวลาประมาณ 13.20 น.กำแพงปล่องลิฟต์และเสาที่ฐานจึงถล่มเกือบพร้อมกัน ทำให้อาคารทั้งหลังตกลงมาในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว
เมื่อส่งปูนซีเมนต์ที่ใช้ในการก่อสร้างไปตรวจสอบปรากฎว่าไม่ได้มาตรฐานค่า KSC ซึ่งเป็นหน่วยวัดมาตรฐานความแข็งแรงของคอนกรีต และ เหล็กเส้นที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุมีบางส่วนไม่เป็นไปตามแบบเช่นกัน และ ลายมือชื่อของ นายสมเกียรติ ชูแสงสุข ผู้เสียหายที่ถูกปลอมลายมือชื่อลงไปในฐานะวุฒิวิศวกร จากกองพิสูจน์หลักฐานยืนยันว่าตัวอย่างลายมือชื่อที่ส่งเปรียบเทียบเป็นไม่ใช่ลายมือชื่อของคนเดียวกัน
จากหลักฐานข้างต้นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้แบ่งกลุ่มผู้กระทำความผิดออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุม หรือทำการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำมีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้กระทำความผิดดังนี้
กลุ่มที่ 1 บริษัทผู้ออกแบบ คือ บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และ บริษัท ไมนฮาร์ท (ประทศไทย) ทำสัญญาระหว่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล 1 ราย และมีกลุ่มวิศวกรผู้ลงนามในแบบแปลนซึ่งเป็นวิศวกรโครงสร้าง จำนวน 5 ราย รวมผู้กระทำความผิดทั้งหมด 6 ราย
กลุ่มที่ 2 บริษัทผู้รับจ้างควบคุมการก่อสร้าง กิจการร่วมการค้า PKW จำนวน 1 รายเป็นผู้แทนลงนามในสัญญา ซึ่งทั้ง 3 บริษัท ตกลงยินยอมรับผิดร่วมกันและแทนกันต่อผู้ว่าจ้างในทุกกรณี โดย 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด, บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และ บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด รวมผู้กระทำความผิดทั้งหมด 5 ราย
และกลุ่มที่ 3 บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง คือ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ [ITD] บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนกินการร่วมค้า ITD-CREC รวมผู้กระทำความผิดทั้งหมด 6 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีชื่อของ นายเปรมชัย กรรณสูต และ นางนิจพร จรณะจิตต์ สองผู้บริหารระดับสูงและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ITD อยู่ด้วย