พ.ท.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ กรรมการบริษัท บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) เปิดเผยว่า แนวโน้มโตปี 68 อาจจะลดลงจากเดิมทีที่ตั้งเป้าไว้ 10-15% เหลือ 8-12% แทน ด้วยสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซากว่าคาด แต่ยังมั่นใจว่าตลาดต่างประเทศยังโตได้อยู่ บริษัทฯ จึงมีกลยุทธ์รับมือเศรษฐกิจ ผ่านการเพิ่มปริมาณการขายของราคาถูกเพื่อทดแทนรายได้จากสินค้าราคาสูงที่คาดว่าจะลดลงตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจ
ในส่วนของธุรกิจ B2B จะมุ่งเน้นไปที่สินค้าซื้อขายได้เร็ว ราคาไม่แพง และอาจจะลดราคาเพื่อเพิ่มปริมาณการขายและลดค่าขนส่งไปพร้อมๆกันในทุกๆ ประเทศ และอาจจะจัดโปรโมชั่นสำหรับสินค้าบางตัวเป็นทางออกระยะสั้นสำหรับธุรกิจ B2C ในโซนประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ให้ลูกค้า
"ณ เวลาอย่างนี้ ทุกคนต้องการของถูก ถ้าเรามัวแต่คำนึงเรื่อง Margin เยอะ ๆ มากเกินไป เราไม่ยอมปรับราคา หรือไม่เล่นโปรโมชั่นเลย ถึงนักบัญชีอาจจะไม่ชอบ แต่สำหรับคนค้าขาย ต่อให้กำไรน้อยแต่ของหมุนก็ยังรู้สึกสบายใจมากกว่า" พ.ท.จัณจิดา กล่าว
แต่ทั้งนี้ก็อาจจะยังไม่จัดราคาโปรโมชั่นในโซนอินเดีย เพราะยังต้องเน้นในด้านคุณภาพเนื่องจากเพิ่งเริ่มกิจการในพื้นที่ และในจีนเพราะไม่สามารถสู้ราคาสินค้าตลาดบ้านเขาได้อยู่แล้ว
พ.ท.จัณจิดา กล่าวว่า แนวโน้มไตรมาส 2/68 คาดมีผลประกอบการที่ดีกว่าไตรมาส 1/68 มาจากธุรกิจนอกประเทศเป็นหลัก เนื่องจากภาพรวมความตึงเครียดสงครามการค้าสหรัฐ-จีนเริ่มคลายตัวลง และลูกค้านอกประเทศไม่พบว่าตนเองได้รับผลกระทบจากภาษีเพิ่มเติมในช่วงนี้ ทำให้ยอดการสั่งซื้อสินค้ากลับมาเพิ่มขึ้นเป็นปกติ แต่บริษัท ฯ ยังคอยระวังเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน
ด้านนายสุรนาถ กิตติรัตนเดช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน RBF กล่าวว่า ในไตรมาส 1/68 RBF มีรายได้จากการขายลดลง 9.96% จาก 1.16 พันล้านบาทในไตรมาส 1/67 เหลือ 1.05 พันล้านบาท โดยปัจจัยสำคัญมาจากรายได้ในจีนหลังสิ้นสุดโครงการในประเทศไป กลุ่มสินค้าซื้อมาขายไปที่ปรับลดลง และกลุ่ม Flavour ที่ชะลอตัวตามสภาวะเศรษฐกิจในไทย
โดยรายได้จากการขายในประเทศลดลง 7.43% หรือ 66.06 ล้านบาท จาก 888.67 ล้านบาทในไตรมาส 1/67 เป็น 822.61 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการขายในต่างประเทศลดลง 18.06% หรือ 50.18 ล้านบาท จาก 277.84 ล้านบาทในไตรมาส 1/67 เป็น 227.66 ล้านบาท ถ้าไม่นับประเทศจีนที่บริษัท ฯ เข้าไปทำโครงการเฉพาะ 1 ปีก็ถือว่าการขายนอกประเทศโตขึ้นเล็กน้อย
ส่วนการจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุนในประเทศรัสเซียเพื่อขยายธุรกิจสินค้าซื้อมาขายไป ชื่อ CANWILLON LLC. ร่วมกับบริษัทท้องถิ่นในสัดส่วนประมาณ 50:50 ของทุนจดทะเบียน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงสร้างการถือหุ้นอยู่ระหว่างตกลงกับผู้ร่วมทุนตามกฎหมายของประเทศรัสเซีย เริ่มมียอดสั่งซื้อสินค้าบ้างแล้ว เป็นสินค้าที่ทำกำไรได้สูง มองว่ามีโอกาสเติบโตที่ดี
พ.ท.จัณจิดา กล่าวว่า ไทยน่าจะไม่มีปัญหากับการทำธุรกิจในรัสเซีย และอาจจะมีการลงทุนเพิ่มเติมถ้าหากธุรกิจในรัสเซียเป็นไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะการตั้งโรงงานผลิตในประเทศเพื่อลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า
นอกจากนี้ RBF ยังมีการประกาศซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินของบริษัท วงเงินสูงสุดที่ใช้ในการซื้อหุ้นคืน ไม่เกิน 500 ล้านบาท จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืน ไม่เกิน 100 ล้านหุ้น (คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 5 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด) กำหนดระยะเวลาที่จะซื้อหุ้นคืน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2568 ถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2568