WAVE เปิดกลยุทธ์พลิกฟื้นสู่การเติบโต ส่ง "เวฟ บีซีจี" บุกขยายฐานลูกค้าท่องเที่ยว-อุตฯการผลิต-การบิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 19, 2025 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายถิรพงศ์ คำเรืองฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล [WAVE] เปิดแผนธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้มุ่งพลิกสถานการณ์กลับมาสู่ภาวะปกติและเติบโตในอนาคตหลังจากไตรมาส 1/68 รายได้หดตัว และยังคงมีผลขาดทุนสุทธิ

สำหรับบริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ให้บริการ Climate Solution บริษัทวางกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าใหม่ 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งจะมีดีมานด์มาตรฐานโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากการที่สหภาพยุโรป (EU) ได้กำหนดให้ธุรกิจโรงแรมบนแพลตฟอร์มต่างๆ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยประเทศไทยใช้มาตรฐาน Green Hotel Plus ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงแรมในประเทศไทยยังคงสามารถแข่งขันและดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าต่างประเทศได้จึงจำเป็นต้องดำเนินการรายงานผลกระทบดังกล่าว

2) อุตสาหกรรมผู้ผลิตและส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ของสหภาพยุโรป (EU) เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เหล็กกล้า อลูมิเนียม และปุ๋ย เป็นต้น

และ 3)กลุ่มธุรกิจการบิน ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน CORSIA (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) หรือกลไกการชดเชยและการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการระดับโลกที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบินระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อจำกัดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) จากกิจกรรมการบินที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเข้าสู่ภาคบังคับในปี 2570

ส่วนบริษัท เวฟ เอ็ดดูเคชั่น กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจการศึกษา จะเปิดขายแฟรนไชส์สถาบันสอนภาษาอังกฤษชั้นนำระดับสากล "Wall Street English" และกำลังมีแผนทำระบบแฟรนไชส์ของโรงเรียนสอนภาษาจีน "Lets Mandarin" ในอนาคต เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพให้เข้าถึงผู้เรียนในวงกว้างยิ่งขึ้น

ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/68 บริษัททำรายได้จากการขายและให้บริการ 102.95 ล้านบาท ลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากหยุดดำเนินการชั่วคราวบางส่วนเพื่อขยายธุรกิจด้านการสอนภาษาจีน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสงครามการค้า สร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจ ทั้งยังมีปัจจัยจากการปล่อยวงเงินสินเชื่อเพื่อการศึกษาตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ส่วนกำไรขั้นต้นลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/67 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายการขายและบริหารที่ดีขึ้นอยู่ที่ 44.66 ล้านบาท ลดลง 9% และมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 8.68 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 49 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและสร้างเสถียรภาพทางการเงินที่ดีขึ้น

นายถิรพงศ์ กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 68 บริษัทเผชิญกับความท้าทายและความผันผวนของปัจจัยภายนอกหลายประการ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แม้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ จะมีเป้าหมายด้าน ESG แต่จากภาวะเศรษฐกิจผันผวน และ ความล่าช้าของ พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดการชะลอตัวในเรื่องนี้ ประกอบกับ ที่ผ่านมาบริษัทยังได้รับผลกระทบทางบัญชี ในการวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือ ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน( RECs) โดยในไตรมาสนี้ยังคงใช้ราคา UGT1 ตามประกาศของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาอ้างอิง แต่บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ