INTERVIEW: EA ฉีกวิกฤต!! งัดแผน "คืนชีพ" ธุรกิจหมื่นล้าน หลังพายุร้ายซัดตกเหว-ดึงพันธมิตรช่วยแก้ปม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 19, 2025 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

INTERVIEW: EA ฉีกวิกฤต!! งัดแผน

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ [EA] เริ่มกลับมาตั้งหลักหลังเจอมรสุมลูกใหญ่จากปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะเรื่องที่หนักสุด คือ เสาหลัก "นายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล" ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษจากกรณีทุจริต แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้ EA ได้เตรียมแผนพลิกฟื้นธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อกลับเข้ามาสู่เรดาห์ของนักลงทุนอีกครั้ง

นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน EA ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์" ว่า ปัญหาใหญ่สุดตอนนี้คือ สภาพคล่องและหนี้สินที่มีอยู่ และอันดับเครดิตของ EA ทั้งองค์กรและหุ้นกู้ถูกปรับลงมาต่ำกว่าระดับ Investment Grade ที่ "BB+" แนวโน้ม Negative ยอมรับว่าลำบากที่จะออกหุ้นกู้ล็อตใหม่ได้

INTERVIEW: EA ฉีกวิกฤต!! งัดแผน

บริษัทมีภาระหุ้นกู้ที่จะต้องชำระคืนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า รวมมูลหนี้ราว 1.4 หมื่นล้านบาท วันนี้กำลังหาสถาบันการเงินเข้ามาช่วยเราบริหารจัดการสภาพคล่องประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในส่วนหุ้นกู้ที่ได้เลื่อนมาชำระสิ้น พ.ค.นี้ จำนวน 5.5 พันล้านบาทจะนำเงินมาจากภายในบริษัท บวกกับเงินเพิ่มทุนที่ขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเมื่อต้นปีที่มีอยู่รวมราว 7.4 พันล้านบาท

"เรามีธุรกิจที่ดี เราพร้อมจะกลับไป เราอยากหาเพื่อนคนหนึ่งที่จะมาช่วยประคับประคองเราให้ผ่านพ้นไปในช่วงที่เราลำบาก เราสวยพอสมควร เขาคงไม่ได้มาร่วมทุน แต่มาจัด Financing และปล่อยกู้เงินจำนวนหนึ่ง เพื่อประคับประคองให้ผ่านช่วงนี้มาได้" นายวสุ กล่าว

นายวสุ กล่าวว่า ณ ปัจจุบัน บริษัทได้พาร์ทเนอร์เป็นแบงก์ขนาดใหญ่แล้ว 1 ราย แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาจึงยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ และคาดว่าจะมีแบงก์เล็กๆ เข้ามาร่วมกันช่วยเหลือบริษัทเพื่อจัดสภาพคล่องให้กับเราในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อบริษัทในระยะยาว

"ตั้งแต่เกิดเรื่อง เราเหมือนกับถูกรถชนและตัวเราตกไปในเหว แต่มีแบงก์เกือบ 10 แบงก์ที่เข้ามาช่วยปล่อยวงเงินมาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ผู้ถือหุ้นกู้ให้เราเลื่อนจ่ายคืน รวมทั้งจะหาพาร์ทเนอร์ในทุกส่วนธุรกิจเพื่อให้เราผ่านวิกฤตินี้ไปได้"นายวสุ กล่าว

ณ สิ้นเดือน มี.ค.68 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีหนี้สินรวม 61,949.53 ล้านบาท ลดลง 4,119.68 ล้านบาท (-6.2% YoY) ในจำนวนนี้ประกอบด้วย หุ้นกู้และเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินรวม 54,542 ล้านบาท เจ้าหนี้การค้าจำนวน 393 ล้านบาท และหนี้สินอื่น รวม 7,003 ล้านบาท


*คืนชีพ EV Ecosytem เร่งหาพันธมิตรเสริมแกร่ง

นายวสุ กล่าวว่า EV Ecosytem ของกลุ่ม EA ต้องหยุดชะงักไป เริ่มต้นตั้งแต่หุ้น บมจ.เน็กซ์ พอยท์ [NEX] ร่วงหนักช่วงปลายเดือน เม.ย.67 ถัดมาก็มีการกล่าวโทษผู้บริหาร EA ทั้ง 2 คนในวันที่ 12 ก.ค.67 ทำให้ความมั่นใจต่อลูกค้าและคู่ค้าหดหาย

ทั้งนี้ การเสนอขายรถ EV ของกลุ่มที่มี NEX เป็นดีลเลอร์ และฝ่ายซ่อมบำรุงให้ลูกค้า พอเกิดเรื่องกับ NEX ทำให้ความมั่นใจที่จะซื้อรถจาก NEX และจะได้รับการซ่อมบำรุงมีปัญหา แต่ก็ยังมีลูกค้ามารับรถอยู่บ้าง ซึ่งรถเชิงพาณิชย์ที่ขายเป็นรถหัวลาก 100 กว่าคันใช้ในการขนส่งเป็นหลัก แต่พอมีเรื่องกับผู้บริหาร EA ก็เหมือนกับตอกฝาโลง ความเชื่อมั่นพังไปหมด ออเดอร์ทุกอย่างหยุดหมดตั้งแต่เดือน ก.ค.67

เมื่อผู้บริหารชุดใหม่เข้าไปบริหารจัดการ สิ่งแรกที่ทำคือ หยุดการผลิตทั้งโรงงานรถอีวี ภายใต้บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด (AAB) และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ภายใต้บริษัท อมิตา เทคโนโลยี จำกัด เพราะต้องการกันเงินสดไว้ และลดค่าใช้จ่าย ประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี และให้พนักงานออกบางส่วน

แต่ปีนี้ บริษัทเริ่มตั้งหลักใหม่ได้หลังจากแก้ปัญหาสภาพคล่องได้ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทยังมี Cashflow operation ถึง 7.6 พันล้านบาท แสดงว่าธุรกิจไม่ได้แย่ พอเรายืนได้แล้ว วันนี้ทุกคนก็มอง EA ในมุมที่เปลี่ยนไป

สิ่งที่เราทำต่อไป คือ การส่งผู้บริหารของ EA ไปเพิ่มใน NEX หลังจาก EA เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ NEX อีก 24.82% ทำให้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 50% โดยจะเร่งนำรถในสต๊อกออกมาขายเพื่อเก็บเงินสดกลับเข้ามา คาดว่าจะได้ประมาณ 4-5 พันล้านบาท จากสต็อกรถบัส 40% รถหัวลากและรถหกล้อ 60% ซึ่งได้ตั้งสำรองไปแล้วในราคาขายมีส่วนลด 30%

ทั้งนี้ มีเป้าหมายระบายสต็อกรถที่ AAB ผลิตทั้งหมด และหาโปรดักส์ใหม่เพื่อปิดช่องว่างที่มีอยู่

ขณะเดียวกัน EA กำลังดีลกับพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตรถจากจีน 2-3 รายที่จะเข้ามาช่วยปรับปรุงสายการผลิตใน AAB แต่เนื่องจากช่วงนี้เกิดเหตุการณ์สงครามการค้าจีนกับสหรัฐที่ยังมีความไม่แน่นอน จึงทำให้การดำเนินการชะงักไปบ้าง แต่คาดหวังจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ แต่เบื้องต้นเมื่อเดือน ธ.ค.67 EA ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงที่จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Chengli Special Automobile Co.Ltd หนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ประเภทพิเศษรายใหญ่ที่สุดของจีนไปแล้ว

นายวสุ กล่าวถึงธุรกิจแบตเตอรี่ว่า บริษัทต้องการหาพันธมิตรเข้ามามากที่สุด เนื่องจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของ EA เป็น Utra Fast Charge Technology ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าแบตเตอรี่ทั่วไปราว 25-30% เพราะวัตถุดิบที่เป็น Rare Earth แพงกว่าจีน บริษัทจึงต้องการ Technology Normal Charge เข้ามาเสริม ดังนั้น การที่มีพันธมิตรจากจีนจะช่วยบริษัทได้

อีกทั้ง เราเปิดพื้นที่โรงงานของบริษัทที่ จ.ฉะเชิงเทราให้จีนเข้ามาใช้เป็นฐานการผลิต Energy Storage System (ESS)ที่ใช้กับแบตเตอรี่เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ โดยตั้งอยู่ในเขต Free Zone ด้วย

"เราอยู่ระหว่างดีลกับพันธมิตรจีนประมาณ 3 ราย แต่ตอนนี้มองว่าดีลยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งรอดูการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐก่อน ถึงแม้ว่าเราอยากจะคุยให้จบภายในสิ้นปี ธุรกิจอีวียังมีโอกาสกลับมาสูง การเจรจาหาพันธมิตรก็เพื่อร่วมกันเดินหน้ากลับมาผลิตอีกครั้ง"นายวสุ กล่าว

*เกาะรายได้โรงไฟฟ้าหมื่นลบ.ประคองชีวิต

นายวสุ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังานหมุนเวียนของบริษัท ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม แม้ว่า Adder ใกล้จะหมดลง แต่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ EA ได้รับมีข้อเสนอดีกว่า PPA ใหม่ๆ เพราะบริษัทเป็นรายแรกๆ ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังานหมุนเวียน

ข้อดีข้อแรก ได้แก่ ค่าไฟฐานที่เราได้รับสูงกว่าค่าไฟฐานของโรงไฟฟ้าใหม่ๆ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้อยู่ 2.10 บาท/หน่วย แต่ของเรามีราคาขายที่ 3.70 บาท/หน่วย และโรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าใหม่ได้ 3.10 บาท/หน่วย แต่บริษัทได้ 3.30 บาท/หน่วย

และข้อที่สอง สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของบริษัท เป็นสัญญาแบบ Perpetual สามารถต่อสัญญาได้ทุกๆ 5 ปี

โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของ EA จำนวน 664 MW มี PPA ในลักษณะดังกล่าว ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 68 จะรับรู้รายได้ 1 หมื่นล้านบาท และจะเป็นรายได้หลักให้กับบริษัทไปอีก 2-3 ปี ส่วนอีก 5 ปีข้างหน้าค่า Adder จะหมดทุกโรง จะทำให้รายได้ลดลงไปเหลือประมาณ 5 พันล้านบาท ทำให้บริษัทต้องหาธุรกิจอื่นเข้ามาทดแทน ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ประมูลได้เฟส 2 จำนวน 180MW ก็อยู่ระหว่างการรอลงนามในสัญญา

นอกจากนี้ บริษัทได้ขยายธุรกิจเช้าสู่ธุรกิจ Waste to Energy โดยนำขยะชุนมาผลิตเป็นไฟฟ้า ซึ่งบริษัทประมูลได้แล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้างที่ จ.ภูเก็ต และยังมีการให้บริการ Waste Management เริ่มที่แรกที่เกาะล้านในการมีระบบกำจัดขยะบนเกาะและหวังจะเป็นโมเดลตัวอย่างให้กับเกาะท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย

สำหรับธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) คาดว่าจะเริ่มกระบวนการผลิตในปริมาณ 100,000 ลิตร/วันช่วงปลายไตรมาส 3/68

https://youtu.be/ryPhbdBaNKc


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ