ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศเดินหน้าผลักดันแผนงานสำคัญยกระดับการกำกับดูแลและสร้างเสถียรภาพตลาดทุนไทย โดยเฉพาะการเร่งดึงกลุ่ม New Economy เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยเน้นธุรกิจเทคโนโลยีทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยไม่มีเครื่องยนต์ใหม่ๆ
นายกิตติพงศ์ อุรพิพัฒนพงศ์ ประธาน ตลท. กล่าวว่า เราต้องการยกระดับบริษัทใหม่ๆ ที่มีคุณภาพเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยจะมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่จะเสนอสิทธิเพิ่มเติมให้กับต่างชาติเข้ามาลงทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยจะมีการวางกรอบให้ชัดเจนกันก่อน พร้อมยกตัวอย่างในมาเลเซียที่ดึงบริษัทต่างชาติร่วมทุนและดึงภาครัฐเข้ามาร่วมทุนด้วย โดยของไทยอาจจะใช้เงินกองทุนต่างๆ หรืองบของรัฐวิสาหกิจ โดยอาจให้สิทธิด้านภาษีเป็นตัวดึงดูดสำคัญ
ขณะที่บริษัทในไทย นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า เบื้องต้นในมีการพูดคุยกับ บจ.ขนาดใหญ่สามารถ Spin Off บริษัทลูก เช่น กล่ม บมจ.ปตท.[PTT] ที่มีธุรกิจยา หรืออย่าง บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น [WHA] ที่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีผ่านบริษัทลูกสามารถผลักดันเข้าตลาดหุ้นได้ หรือบริษัทไทยที่ร่วมทุนกับสตาร์อัพในต่างประเทศก็ได้ ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ได้หารือในภาพรวม โดยเข้าใจว่าช่วงต้นของธุรกิจเหล่านี้อาจจะยังประสบผลขาดทุนอยู่ แต่ก็อาจจะปรับปรุงให้เข้าเกณฑ์ได้เช่นเพิ่มทุน หรือวิธีการอื่น และมีแผนจะแยกกระดานเทรดสำหรับบริษัทในกลุ่มนี้
สำหรับโครงการการออมและการลงทุนระยะยาวผ่านโครงการบัญชีการออมส่วนบุคคลในประเทศไทย ( TISA) ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำผลศึกษาให้ประชาชนสามารถซื้อหุ้นเก็บได้และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งการศึกษามีทั้งข้อเสนอให้ยกเว้นภาษีดอกเบี้ยรับ 15% และอาจใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 1 แสนบาท อีกทั้งเมื่อครบกำหนดถึงวัยเกษียณก็ขายได้โดยไม่ต้องเสียภาษี หากมีเงินปันผลอาจยกเว้นภาษี 10% หรืออาจเสียครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำเสนอให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมกับนักลงทุนไทย หากได้ข้อสรุปก็จะนำเสนอต่อกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
"งานเร่งด่วนของผม ผมอยากได้บริษัท List ใหม่เร็วที่สุด ข้อที่หนึ่งเลย ข้อที่สองผมต้องการสร้างความเชื่อมั่น ให้กับบริษัทที่อยู่ปัจจุบัน ให้เกิดความโปร่ง สะท้อนความเป็นจริงของตลาดทุน ด้วย Jump Plus จะได้รู้มูลค่าที่แท้จริงเป็นอย่างไร นักลงทุนจะได้เลือกลงทุนได้ถูก เรื่องที่ 3 ต้องทำให้ผู้ลงทุนเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของบริษัทได้อย่างรวดเร็วซื้อขายหุ้นได้อย่างเป็นธรรม 3 เรื่องใหญ่ถ้าทำได้อย่างนี้ บริษัทดีคนก็มาซื้อขายหุ้น"ประธาน ตลาดฯกล่าว
ทั้งนี้ ในด้านของการผลักดันกลยุทธ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกอบไปด้วยโครงการ Jump+ สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเพิ่มมูลค่าได้เร็วขึ้น ผ่านงบสนับสนุนและมาตรการภาษีต่าง ๆ คาดว่าจะเริ่มในเดือนมิถุนายนนี้ โครงการ Bond Connect Platform เพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลเข้าถึงการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกและตลาดรองได้ง่ายขึ้น และโครงการ Carbon Credit Ecosystem ที่จะจำกัดปริมาณแก็สคาร์บอนที่บริษัท ฯ สามารถปล่อยได้ ส่งเสริมธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียว
ขณะที่ ปัจจุบันนี้ยังมีผลักดันการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐิ์ (AI) ในการกำกับการซื้อขาย และการใช้วิจัย โดยอาจจะมีการจ้างบริษัทนอกประเทศให้เข้ามาดูแลเรื่องระบบในราคาที่เหมาะสม ในส่วนนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาขอบเขตความเป็นไปได้ของการใช้ AI อยู่ ซึ่งอาจจะให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาบริษัทหลักทรัพย์ที่มากเกินไปในประเทศด้วย
นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า จำนวนบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ในปัจจุบัน 39 รายมองว่ามีมากเกินไป จึงต้องการสนับสนุนให้ควบรวมกิจการเหลือครึ่งหนึ่ง เพราะเท่าที่ทราบโบรกเกอร์ครึ่งหนึ่งประสบกับการขาดทุน หรือประมาณ 18 ราย ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ขนาดเล็กขาดทุนมา 1-2 ปี เพราะภาวะตลาดไม่ดีทำให้มูลค่าการซื้อขายหดหายไปมาก แต่อยากให้เน้นบริการคุณภาพดีๆ อย่างงานวิเคราะห์ ไม่ต้องมาแย่งลูกค้ากัน
ส่วนสุดท้ายจะเป็นการผลักดันการแก้ไขกฎหมายเพื่อวางรากฐานการพัฒนาตลาด โดยจะประสานความร่วมมือหลายหน่วยงานในตลาดทุน และกระบวนการยุติธรรม เพื่อสามารถแก้ไขกฎหมายแบบ Omnibus Law ยกร่างกฎหมายตลาดทุน ซึ่งจะมีทั้งการจัดโครงสร้างบริษัทที่เป็นหุ้นสองระดับ (Dual-class share) เพื่อดึงบริษัทขนาดใหญ่ และธุรกิจครอบครัวที่กังวลการสูญเสียอำนาจควบคุมการบริหารเข้ามาจดทะเบียน โดยจะกำหนดหุ้นที่มีอำนาจโหวตเรื่องสำคัญแยกออกจากหุ้นที่ถือเป็นเพื่อรับเงินปันผล และเรื่องของกฎหมายการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) ที่จะลดข้อจำกัดบางส่วนและมีผลบังคับใช้ภายในเดือนนี้
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลดล็อกเรื่องซื้อหุ้นคืนที่จากเดิมหากบริษัทใดซื้อหุ้นคืนต้อง 6 เดือนก่อนที่จะทำการซื้อหุ้นคืนได้ แต่เงื่อนไขใหม่สามารถทำโครงการซื้อหุ้นคืนต่อได้เลย และอีกส่วนจากเดิมที่ต้องขายหุ้นที่ซื้อคืนภายใน 3 ปี ซึ่งมองว่าภาวะตลาดไม่เอื้อก็จะให้สามารถขยายเวลาได้ 1+1ปี หรือเป็น 5 ปีได้ ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนบจ. 37 บริษัท มูลค่ารวม 6 พันล้านบาทแล้ว เท่ากับโครงการซื้อหุ้นคืนทั้งปี 67