นางกนกวรรณรัตน์ ศรีมณีศิริ รองกรรมการผู้อำนายการ สายงานบัญชีและการเงิน บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น [KCG] เปิดเผยว่า แนวโน้มไตรมาส 2/68 คาดยังเติบโตต่อเนื่อง จากยอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (Dairy Products) และผลิตภัณฑ์สำหรับประกอบอาหารและเบเกอรี่ และอื่น ๆ (FBI) ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งมาจากการเติบโตของทุกช่องทางจำหน่าย โดยเฉพาะช่องทางใหม่ในกลุ่มผู้ประกอบการต่างจังหวัดที่เติบโตค่อนข้างมาก เชื่อว่าจะหนุนภาพรวมยอดขายให้เติบโตระดับ High Single-Digit ตามเป้าหมาย
"เรายังตั้งเป้าเติบโตของยอดขายเป็น High Single Digit อยู่ ยังไม่ปรับขึ้น เพราะวันนี้ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายภาษีตอบโต้สหรัฐยังไม่เห็นภาพชัดเจน"นางกนกวรรณ กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้แรงหนุนจากการเติบโตของยอดขายสินค้าใหม่ที่บริษัทนำมาทดแทนสินค้าที่ถูกตัดออกจากแผนการปรับปรุงหน่วยสินค้า (SKU Rationalization) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เนยขาว (Shortening) มาการีน และช็อคแลต ที่มีการเติบโตค่อนข้างดี ทั้งนี้ในไตรมาส 1/68 ยอดขายสินค้าเดิมเป็น 90% และสินค้าใหม่ 10% ซึ่งจะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยบริษัทเตรียมสินค้าใหม่ไปจัดแสดงในงาน THAIFEX ANUGA ASIA 2025 ที่จัดขึ้นช่วงสิ้นเดือนนี้
นางกนกวรรณ กล่าวว่า ช่วงต้นปี 68 บริษัทได้รุกช่องทางจำหน่ายใหม่ที่เน้นกลุ่มผู้ประกอบการต่างจังหวัด จึงทำให้ยอดขายเติบโตได้มากพอสมควร รวมทั้งยังมุ่งเน้นการขยายยอดขายในกลุ่มลูกค้าเดิม เช่น ลูกค้าบางรายที่มี 200 สาขา บริษัทก็จะขยายการขายให้ครอบคลุมทุกสาขาของลูกค้า
สำหรับตลาดส่งออก ยังมองหาโอกาสในการขยายโดยตรงไปยังลูกค้าและผู้แทนจำหน่ายรายใหม่ ๆ อยู่เสมอ ในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งบางประเทศมีลูกค้า B2C ก็จะขยาย B2B ให้ครอบคลุมในแต่ละประเทศ
ส่วนในด้านต้นทุนการผลิตที่มีการปรับขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังปี 67 ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมายังปีนี้ แต่ในไตรมาส 2/68 คาดว่าต้นทุนจะยังทรงตัวอยู่ระดับเดียวกับไตรมาสก่อน ซึ่งบริษัทได้มีการล็อกราคาไว้ล่วงหน้า 2-3 เดือน โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักได้ซื้อตุนไว้จนถึงไตรมาส 3/68 แล้ว เพื่อรองรับการผลิตสินค้าไปได้ถึงกลางไตรมาส 4/68 ทำให้ต้นทุนของราคาค่อนข้างคงที่
นอกจากนี้บริษัทได้เริ่ม R&D พัฒนาสินค้า ปรับบางสูตรในบางสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ ทำให้ปัจจุบันยังไม่มีแผนในการปรับราคาสินค้าขึ้น
ขณะที่ประเด็นนโยบายภาษีการค้าสหรัฐ ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในการเจรจาภาษีระหว่างไทยกับสหรัฐ แต่เป็นมุมมองทั้งบวกและลบต่อบริษัท โดยมองว่าการที่สหรัฐขึ้นภาษีกับประเทศอื่น ๆ ในระดับสูง จะทำให้เกิด Oversupply ของสินค้าสหรัฐ อาจมีโอกาสที่บริษัทสามารถนำเข้าสินค้าในราคาถูกลง ในขณะเดียวกันลูกค้าหลายราย อาจไม่ซื้อสินค้าจากสหรัฐ แต่ระดมซื้อสินค้าจากภูมิภาคอื่น อาทิ โอเชียเนีย อาจทำให้เกิดการขาดแคลนของสินค้าบางประเภท แต่บริษัทซื้อสินค้าล่วงหน้าไว้แล้วเพื่อรองรับการผลิต นอกจากนี้ปัจจุบันบริษัทไม่ได้การส่งออกไปยังสหรัฐโดยตรง แต่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมบ้าง ซึ่งต้องประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป