
ตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างความเท่าเทียมเพื่อประโยชน์ผู้ลงทุนทุกกลุ่ม เปิดโอกาสให้บริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ทุกแห่ง สามารถทำธุรกรรมซื้อขายและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เท่าเทียม ผ่านบริการ Co-location โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ผลการเรียกร้องจากนักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่บางกลุ่มในตลาดหุ้นไทยที่ให้เหตุผลว่าตนเองไม่ได้รับความเท่าเทียมในเรื่องของการส่งคำสั่งซื้อ-ขายหุ้น จนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน
โดยให้เหตุผลว่าผู้ลงทุนรายย่อยเกิดความเสียเปรียบจากการส่งคำสั่ง "ซื้อ" หุ้นไม่ทัน เพราะถูกตัดหน้าจากออร์เดอร์ของ HFT-Algo-Robot หรือ "ขาย" หุ้นไม่ทัน เพราะถูกตัดหน้าจากออร์เดอร์ของ HFT-Algo-Robot เช่นกัน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดกับผู้ลงทุนดังกล่าว โดยจัดสรรให้โบรกเกอร์ที่ไม่เคยได้เข้ารับบริการ สามารถเชื่อมต่อ co-location ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (นอกจากค่าไฟของการไฟฟ้า) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ทำให้ประเด็น "ความเหลื่อมล้ำที่ว่าความเร็วไม่เท่ากัน" ระหว่างโบรกเกอร์หายไปทันที
โดยผู้ลงทุนจะได้รับบริการความเร็วที่เชื่อมต่อผ่าน co-location เทียบเคียงเหมือนดั่งที่ HFT-Algo-Robot ได้รับเช่นกัน
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าโบรกเกอร์นั้นๆ จะยอมที่จะเข้าไปเชื่อมต่อ co-location หรือไม่!?
เนื่องจากภายหลังที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดโอกาสให้โบรกเกอร์ทุกแห่งเชื่อมต่อ co-location ได้ฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว ในปัจจุบันยังมีหลายโบรกเกอร์ที่ไม่ยอมมาเชื่อมต่อความเร็วให้กับผู้ลงทุน หรือ ลูกค้าของตนเอง โดยอ้างว่าทำให้โบรกเกอร์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องค่าอุปกรณ์ติดตั้งฮาร์ดแวร์ต่างๆ ค่าไฟ รวมถึง ค่าเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาดูแลระบบเชื่อมต่อดังกล่าว ทำให้ไม่สะดวก หรือไม่พร้อมที่จะเข้าเชื่อมต่อความเร็วจาก co-location ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
บางโบรกเกอร์เอง อาจจะมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนระยะยาว หรือเป็นกลุ่มพวกวีไอ (VI) ไม่ได้เน้นเรื่องความเร็วเป็นหลัก จึงทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมต่อความเร็วกับ co-location ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ส่วนโบรกเกอร์ที่เคยเข้าถึงการเชื่อมต่อ co-location มาก่อนหน้านี้ และต้องเสียค่าใช้จ่าย Co-location ส่วนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ให้สิทธิยกเว้นค่าใช้จ่ายเหมือนโบรกใหม่ที่มารับจัดสรรพื้นที่ใน Co-lo โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
รวมถึง ผู้ลงทุนที่คิดว่าความเร็วในการส่งคำสั่งเป็นสิ่งสำคัญหลักของการสร้างผลกำไรในตลาดหุ้น ก็สามารถเช็คโบรกฯ ว่า บริษัทที่ให้บริการเชื่อมต่อ co-location อยู่หรือไม่ เพื่อมั่นใจว่ามีโอกาสที่จะเข้าถึงระบบซื้อขายผ่าน Co-location เช่นเดียวกับระบบ HFT-Algo-Robot ได้โดยไม่รู้สึกว่า "ถูกเอาเปรียบ" อีกต่อไป
การเปิดให้โบรกเกอร์เข้าถึง co-location ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นการเปิดโอกาส และสร้างความเท่าเทียมในการให้บริการผู้ลงทุนทุกกลุ่มในด่านแรก
ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างความเท่าเทียมในเรื่องของความเร็วในการส่งคำสั่ง ในการปรับลดความเร็วลง (Speed Bump) โดยจูนความเร็วของโบรกเกอร์ที่เชื่อมต่อ co-location กับโบรกเกอร์ที่อยู่ในระบบ SET NET3 (นอก co-location) ให้ทั้ง 2 กลุ่ม "มีความเร็วเทียบเคียงกัน"
กล่าวคือ จะมีการใส่ Speed bump ในความเร็วสูงสุดที่อยู่ใน co-location ให้เท่ากับความเร็วที่สุดของนอก co-location คือ SETNET3 ทำให้นับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป ความเร็วในการส่งคำสั่งของผู้ลงทุนทุกประเภทที่อยู่ใน co-location กับ นอก co-location(SETNET3) รวมถึง HFT-Algo-Robot จะอยู่ใน "ระดับเทียบเคียงกัน"
จากนี้ไป จะไม่มีความ ได้เปรียบ หรือ เสียเปรียบ ในการส่งคำสั่งผ่าน co-location หรือ SET NET3 โดยการปรับจูนความเร็วลง ถือเป็นการลดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ หรือความเหลื่อมล้ำ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เอามาใช้ป้องกันเป็นลำดับที่ 2
สรุป ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดให้ทุกโบรกเกอร์ เชื่อมต่อความเร็วในการส่งคำสั่งโดยได้รับโอกาสในการเข้าถึงระบบซื้อขายเท่าเทียมกัน ในเดือนพฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
รวมถึงตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป ความเร็วในการรับข้อมูลและส่งคำสั่งซื้อขายของผู้ลงทุน สถาบันในประเทศ-โบรกเกอร์-ต่างชาติ-รายย่อยจะเทียบเคียงกัน ไม่ว่าจะอยู่ใน หรือ นอก co-location
ส่วนการปฏิเสธการเชื่อมต่อ co-location ของโบรกเกอร์บางแห่ง ถือเป็นการปฏิเสธ ความเท่าเทียมทางด้านการลงทุนหรือไม่ อันนี้ก็ต้องไปคิดกันเอาเอง
ทั้งนี้ ปัจจัยความเร็วที่สำคัญ ถ้าหากมีการเชื่อมต่อ co-location จะถูกปรับจูนลดความเร็วลงมาแล้วเทียบเคียงกันแล้ว ก็น่าจะลดปัญหาการโทษว่า ส่งออร์เดอร์ไม่ทันอีกต่อไป หวังว่านักลงทุนรายย่อยก็จะมีกำไรกันถ้วนหน้ามากขึ้นตามที่มีความเรียกร้องให้ "เท่าเทียมกัน" มาก่อนหน้านี้
ธิติ ภัทรยลรดี