
บล.ทรีนีตี้ ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยครึ่งหลังปี 68 ผันผวนตามปัจจัยการเมืองในประเทศและการเจรจาภาษีการค้าของสหรัฐฯ โดยมองกรอบดัชนี SET Index ที่ 1,050-1,180 จุด แต่หากมีเซอร์ไพรส์ในด้านลบ เช่น ภาษีของไทยสูงกว่า 36% หรือการเมืองวุ่นวายหนัก แนวรับสำคัญอาจลงไปถึง 1,000 จุดน่าจะรับอยู่
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นในครึ่งหลังปี 68 ขึ้นกับความชัดเจนของปัจจัยการเมืองภายในประเทศ และการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าต่างๆ เป็นสำคัญ
ล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้เวลาประเทศคู่ค้าไปถึงวันที่ 1 ส.ค.จากเดิม 9 ก.ค. มองว่า Risk sentiment ทั่วโลกจะยังคงถูกประคับประคองได้อยู่ คาดว่าสหรัฐต้องการผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของตนเอง นั่นคือการลดดุลการค้า จึงมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐอาจจะยังไม่เริ่มใช้ภาษีจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ตนพอใจ
ในทางกลับกัน หากสุดท้ายแล้วสหรัฐไม่พอใจกับข้อตกลงการค้าที่แต่ละประเทศเสนอมา และตัดสินใจยกระดับการเก็บภาษีการค้าขึ้นสู่ระดับที่เคยประกาศไว้ จะเป็น Negative sentiment ที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นแต่ละประเทศ โดยระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บลดหลั่นกันไป
ทั้งนี้ ประเมินฉากทัศน์บนบทสรุปสุดท้ายของการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และผลกระทบต่อ SET Index ไว้ดังนี้ (อิงบนสมมติฐานการเมืองภายในประเทศยังไม่มีความเสี่ยงมากขึ้นไปจากเดิม)
1) ไทยถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากร 20% หรือต่ำกว่านั้น ประเมินดัชนี SET จะสามารถทรงตัวเหนือบริเวณ 1,080-1,100 จุด
2) ไทยถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรระหว่าง 20-37% ประเมินดัชนี SET อาจย่อตัวลงไปแถวบริเวณ 1,050-1,080 จุด
3) ไทยถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากร 36% ตามอัตรา Reciprocal เดิม ประเมินดัชนี SET มีโอกาสปรับฐานไปสู่จุดต่ำสุดเดิม 1,050 จุด
นายณัฐชาต กล่าวว่า หากมองไปตลอดช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังมั่นใจว่าจุดต่ำสุดเดิมของ SET Index รอบก่อนหน้านี้ที่ 1,050 จุดจะยังเป็นแนวรับสำคัญที่ไม่หลุดไปได้ง่าย ๆ ตราบใดที่ภาษีศุลกากรที่ไทยถูกสหรัฐฯเรียกเก็บอยู่ในอัตราไม่เกิน 36% และพ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 ยังไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกเลื่อนการพิจารณาหรือตีตกไป
แต่หากการเจรจาการค้าไม่คืบจนทำให้ไทยถูกเก็บภาษีสูงกว่า 36% หรือร่างพ.ร.บ.งบประมาณมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งอาจจะด้วยรัฐบาลกลับมามีเสียงข้างน้อย หรือมีการยุบสภาก่อน หรือมีการทำรัฐประหาร มองว่าแนวรับสำคัญของ SET Index จะถูกกดลงไปอยู่แถวระดับ 1,000 จุดได้
สำหรับเสถียรภาพการเมืองล่าสุดยังไม่มีความเสี่ยงมากนัก แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินรับคำร้องและให้นายกฯ หยุดปฎิบัติหน้าที่ แต่งานบริหารยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปพร้อมกับ ครม.ชุดใหม่ มองไปข้างหน้าการเมืองอาจยังมีผลกระทบอยู่บ้าง แต่ตราบใดที่สภาฯชุดนี้ยังคงทำงานต่อไปโดยมี พ.ร.บ.งบประมาณฯเป็นที่ตั้ง มองจะเป็นเพียงลักษณะของ Noise ที่เข้ามากระทบด้าน Sentiment มากกว่า
และหากยังไม่มีการยุบสภาในช่วงนี้ มองจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น เนื่องจากความดำรงอยู่ของรัฐบาลน่าจะเป็นบวกต่อการเดินทางไปเจรจาการค้ากับทางสหรัฐฯ มากกว่าจะเป็นรัฐบาลรักษาการ มองไปข้างหน้าหากเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลที่ราว 260 เสียงยังคงยืนหยัดอยู่ได้ น่าจะทำให้รัฐบาลยังคงพอไปได้ โดยจุดชี้ชะตาสำคัญก็คือช่วงของการโหวตกฎหมายสำคัญในสภา เช่น ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 เป็นต้น รวมถึงการถอนร่าง พ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ไป จะทำให้รัฐบาลได้ลดแรงเสียดทานจากประเด็นนี้ไปได้ส่วนหนึ่งด้วย
นายณัฐชาต กล่าวว่า จากสถานการณ์ล่าสุดประเมินแนวโน้มการเติบโตของ GDP ไทยในปีนี้ที่ราว 2% เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกยังได้ตัวช่วยภาคการส่งออกที่เร่งตัว (Frontload) จากคำสั่งซื้อที่เข้ามาก่อนที่จะมีความไม่แน่นอนทางด้านภาษีการค้า ทั้งนี้ หาก GDP ไทยจะเติบโตไม่ถึง 2% คงต้องเกิดความเสี่ยงอยู่ 2 ด้าน ได้แก่
1. การประกาศเก็บภาษี Reciprocal tariff กับไทยในระดับสูง เช่น 36% ขึ้นไป ในกรณีนี้มองกลุ่มหุ้นที่จะมีความ Sensitive ได้แก่ กลุ่มหุ้นส่งออก และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น แต่ประเมินว่ามีโอกาสค่อนข้างน้อยที่กรณีนี้จะเกิดขึ้น
2. พัฒนาการของปัจจัยการเมืองไทยที่เป็นไปในทิศทางเชิงลบมากขึ้นจนนำมาสู่เงื่อนเวลาของพ.ร.บ.งบประมาณที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจาก ณ วันนี้ เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยแทบจะดับหมดทุกเครื่องแล้ว หากการใช้จ่ายภาครัฐยังคงขาดตอนไปอีก จะทำให้ Downside ของเศรษฐกิจไทยเปิดกว้างมากขึ้นได้ ในกรณีนี้มองกลุ่มหุ้นที่จะมีความ Sensitive ได้แก่ กลุ่มหุ้น Domestic ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการลงทุน เป็นสำคัญ
ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับคาดการณ์ GDP ไทยในปี 68 ขึ้นมาเป็น 2.3% นั้นเป็นการปรับโดยใช้ข้อมูลไตรมาส 1 และ 2/68 ย้อนหลัง จากการเร่งตัวภาคส่งออกที่ลากยาวมาหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ เลื่อนวันเก็บภาษีมากกว่า อ้างอิงแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี รวมถึงฐานตัวเลขอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่ทาง ธปท.ใช้ในการคำนวนการคาดการณ์ต่าง ๆ คือที่ 18% ทำให้อาจมีการปรับในกรณีที่ไทยได้ข้อสรุปอัตราภาษีสูงกว่า 36%
นายณัฐชาติ ประเมินกรอบการแกว่งตัวของ SET Index ในช่วงที่เหลือของปี 68 ที่ 1,050-1,180 จุด ส่วนในกรณีที่มี Surprise ทั้งในฝั่ง Upside และ Downside กรอบการลงทุนอย่างกว้างจะอยู่ที่ 1,000-1,270 จุด คำแนะนำการลงทุน แนะนำใช้กลยุทธ์ "ขึ้นขาย - ลงซื้อ" ตามกรอบดัชนีแนวต้าน-แนวรับที่กำหนดไว้
ด้านความคาดหวังจาก Fund flow มองว่าเม็ดเงินจากกลุ่มกองทุน Active funds อาจจะยังยากอยู่ ในช่วงเวลาที่ปัจจัยกระตุ้นทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการเติบโตของผลกำไร ยังไม่ชัดเจนนัก แม้ Valuation ของตลาดหุ้นไทยจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม อย่างไรก็ดี ในฝั่งของเม็ดเงินจากกองทุน Passive funds นั้น อาจพอคาดหวังได้บ้าง หากในช่วงถัดไป ตลาดหุ้นไทยเริ่มหยุดการปรับตัว Underperform ของตนเอง เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นอื่นได้ โดยล่าสุดน้ำหนักของหุ้นไทยในดัชนี MSCI EM ได้ปรับลดลงต่ำกว่า 1% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
กลุ่มหุ้นเด่นประจำไตรมาส 3/68 แนะนำ Selective เน้นกลุ่ม Defensive Big player ที่ราคาปรับตัวลงมาแรง และมี Market share สูง พร้อม Valuation อยู่ในโซนต่ำ ได้แก่ ADVANC, BDMS, CPALL, และ GULF
นายกมลชัย พลอินทวงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล. ทรีนีตี้ กล่าวว่า ราคาทองคำโลกไม่ควรหลุดแนวรับที่ 3,120 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ แต่หากหลุดลงมา Downside จะเปิดไปที่แนวรับ 3,000 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ +/- ได้ แนะนำให้นักลงทุน ลงทุนแบบ DCA ที่บริเวณ 3,300-3,120 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ มองว่าแนวต้านของทองคำโลกปลายปีนี้จะอยู่ที่บริเวณ 3,500-3,700 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์
สำหรับราคาทองคำไทย มองว่า Under-perform ทองคำโลกมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว หากจะลงทุนให้กรอบแนวรับที่บาททองคำละ 49,000-50,000 บาท และกรอบแนวต้านที่ 54,450-56,700 บาท ทั้งนี้ หากเทียบราคาทองคำโลกเป็นทองคำไทยจะต้องพิจารณาถึงค่าเงินบาท ณ เวลานั้นด้วย เช่น ถ้าเงินบาทอ่อนค่าลดก็ช่วยให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้
นายเดชธนา ฟางสะอาด ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ดัชนี SET50 Index มีแนวโน้มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง หลังตลาดรับรู้ความเสี่ยงภาษีสหรัฐฯ ไปแล้ว โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือดัชนีไม่ควรสร้างจุดต่ำสุดใหม่ต่ำกว่า 685 จุด ส่วนค่าเงินบาท (USD/THB) มีโอกาส Rebound เพื่อทดสอบแนวต้านสำคัญที่บริเวณ 34.50-35.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีเงื่อนไขว่าอัตราแลกเปลี่ยนไม่ควรปรับตัวลงต่ำกว่า 32.10-32.20 บาท