ผู้บริโภคทางเลือกจำกัด หลังตลาดมือถือมีผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย แนะภาครัฐเพิ่มผู้เล่นรายใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 11, 2025 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้บริโภคทางเลือกจำกัด หลังตลาดมือถือมีผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย แนะภาครัฐเพิ่มผู้เล่นรายใหม่

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า การประมูลคลื่นความถี่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2568 บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ต่างชนะการประมูลคลื่นความถี่เดิมที่เช่าจากบมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ทำให้สามารถคงคุณภาพการให้บริการในปัจจุบัน โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประมูลคลื่นความถี่ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานลงในปีนี้ ได้แก่ 850 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 1500 MHz ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 2 ราย คือ

1) TRUE ที่ได้รับคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz ขนาด 70 MHz ซึ่งเดิมเช่าจาก NT และคลื่นความถี่ 1500 MHz ขนาด 20 MHz

2) AIS ซึ่งชนะการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz ขนาด 30 MHz ที่เดิมเช่าใช้จาก NT โดยผลการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ ทำให้ผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย สามารถคงคุณภาพการให้บริการในปัจจุบัน โดยเปลี่ยนจากการเช่า NT มาเป็นการถือครองสัมปทานโดยตรง

การเปลี่ยนจากเช่ามาถือครองสัมปทาน จะช่วยลดต้นทุนในระยะยาว และเพิ่มโอกาสลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ

การได้รับสัมปทานคลื่นความถี่ในครั้งนี้ ผู้ให้บริการจะสามารถลดภาระต้นทุนคลื่นความถี่จากการชำระค่าเช่ารายปีที่สูงถึง 3,900-4,500 ล้านบาทต่อปี เป็นค่าใบอนุญาตตลอดอายุ 15 ปีเฉลี่ยที่ 990-1,700 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับราคาที่ชนะการประมูล ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการลงทุนเพื่อยกระดับการบริการตามแผนของผู้ให้บริการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพโครงข่ายเดิม อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยี AI บนโครงข่ายอัจฉริยะ การขยายโครงข่าย 5G-Advanced ที่ช่วยให้การใช้งานมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น การพัฒนาบริการดิจิทัลในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีโลกเสมือน (AR/VR) และอุปกรณ์อัจฉริยะ รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยี 6G ในระยะข้างหน้า

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผลการประมูลในครั้งนี้อผู้บริโภคอาจเสียโอกาสรับบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นจากคลื่นความถี่ที่นำมาจัดสรรแต่ไม่มีผู้สนใจเข้าประมูล ขณะเดียวกัน รายได้ที่รัฐได้รับจากราคาประมูลที่ไม่สูงมากอาจกระทบต่องบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ

การที่คลื่นความถี่ 850 MHz และ 1500 MHz บางส่วนยังไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้อาจทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาสจากการได้รับบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นผ่านคุณสมบัติเฉพาะของย่านคลื่นความถี่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้นบนโครงข่าย 5G และการใช้งานในพื้นที่ห่างไกลที่มีความเสถียรมากขึ้น นอกจากนี้ รายได้ที่นำเข้ารัฐจากราคาประมูลที่ไม่สูงมากนักอาจกระทบต่อแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ เนื่องจากรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ถือเป็นแหล่งงบประมาณสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ

อย่างไรก็ดี การกำหนดนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมกลไกการแข่งขันในตลาด จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์มากขึ้น และผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศได้ในระยะยาว โดยโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมของไทยในปัจจุบันที่มีผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่จำกัดและการแข่งขันด้านราคามีความเข้มข้นลดลง

ดังนั้น การออกแบบนโยบายที่ช่วยเพิ่มกลไกการแข่งขันในตลาด จึงเป็นความท้าทายสำคัญของภาครัฐ อาทิ 1) การสนับสนุนผู้ให้บริการแบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) ให้มีโอกาสเข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น 2) การกำกับดูแลด้านราคาและคุณภาพบริการที่เป็นธรรม อาทิ การกำหนดแพ็กเกจการบริการขั้นต่ำทั้งด้านราคา ปริมาณการใช้งาน และความเร็ว ให้สอดคล้องกับต้นทุนของผู้ให้บริการและคุณสมบัติของคลื่นความถี่ที่ผู้ให้บริการได้รับ และ 3) การทบทวนย่านคลื่นความถี่ ปริมาณ และราคาขั้นต่ำในการจัดสรรคลื่นความถี่ในครั้งต่อไปให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด แผนพัฒนาโครงข่ายของผู้ให้บริการ และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ