
กลุ่มทิสโก้ เผยผลประกอบการงวดครึ่งแรกของปี 68 กำไรสุทธิ 3,287 ล้านบาท ลดลง 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รับผลกระทบภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น พร้อมทั้งดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" อย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าในช่วงเวลาที่ท้าทาย พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังด้วยความรอบคอบยึดมั่นแนวทาง "ธุรกิจยั่งยืน"
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป [TISCO] เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน แม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นก่อนมาตรการภาษีศุลกากรสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ แต่อุปสงค์ภายในประเทศกลับอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน โดยมีสาเหตุหลักจากการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน และความระมัดระวังในการใช้จ่ายของครัวเรือน อันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตและปัญหาหนี้สิน ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่เต็มประสิทธิภาพ
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 3,287 ล้านบาท ลดลง 5.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ธุรกิจหลักลดลง โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ขณะที่สินเชื่อยังคงขยายตัว 1.4% จากกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จากการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในกลุ่มแบรนด์รถยนต์เป้าหมาย พร้อมคัดสรรการเติบโตไปในกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้สามารถเพิ่มอัตราการเข้าถึง (Penetration Rate) ในกลุ่มรถยนต์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่เติบโตขึ้นถึง 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ดี รายได้ค่าธรรมเนียมโดยรวมได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดทุนที่ยังคงผันผวน แต่การฟื้นตัวของสินเชื่อเช่าซื้อช่วยหนุนให้รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยกลับมาเติบโตอีกครั้ง อีกทั้ง ธุรกิจจัดการกองทุน บลจ.ทิสโก้ จำกัด ยังคงสร้างผลงานโดดเด่น โดยสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่เข้ามาเป็นลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในคุณภาพการให้บริการ และตอกย้ำความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน กลุ่มทิสโก้ยังคงดำเนินนโยบายควบคุมจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยชะลอการขยายสาขาใหม่และมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของสาขาเดิมให้ดียิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าตั้งสำรองตามแผน เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวในครึ่งปีหลัง และมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค จากแรงกดดันด้านการส่งออก การท่องเที่ยว และความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศยังคงอ่อนแอจากรายได้ที่ไม่เพิ่มขึ้นและภาระหนี้ครัวเรือน กลุ่มทิสโก้ยังคงยึดมั่นในยุทธศาสตร์ "ธุรกิจยั่งยืน" (Sustainable Focus) โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ พร้อมปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ควบคู่กับการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดผ่านโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี โดยมีลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือแล้วกว่า 40% พร้อมขยายความช่วยเหลือต่อเนื่องในเฟสที่สอง ขณะเดียวกันจะเดินหน้าบริการที่ปรึกษาทางการเงินแบบองค์รวม (Holistic Advisory) ครอบคลุมทั้งด้านการลงทุนและการวางแผนสุขภาพ ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของลูกค้าในทุกช่วงชีวิต
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ไตรมาส 2/68 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,644 ล้านบาท ลดลง 6.2% เทียบกับไตรมาส 2/67 จากรายได้รวมอ่อนตัวลง 2.9% ตามอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจตลาดทุนชะลอลงตามวอลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ ค่าใช้จ่ายสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มขึ้นมาที่ 1.0% ของสินเชื่อเฉลี่ย ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงดำเนินการควบคุมค่าใช้จ่ายการดำเนินงานให้ลดลง 7.0%
อย่างไรก็ดี ผลกำไรงวดไตรมาส 2/68 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/68 จากรายได้รวมที่เติบโต 2.4% ชดเชยกับ ECL ที่สูงขึ้น รายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัว ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัว โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์และนายหน้าประกันภัย รวมถึงผลกำไรจากพอร์ตเงินลงทุน บริษัทยังคงควบคุมค่าใช้จ่ายการดำเนินงานลดลงต่อเนื่อง 2.3% ส่งผลให้กำไรก่อนการตั้งสำรองเติบโต
เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 มิ.ย.68 มีจำนวน 235,512 ล้านบาท เติบโต 1.4% จากสิ้นปี 67 ตามสินเชื่อขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สินเชื่อ SME อ่อนตัวลงจากสิ้นปี 67 จากการเข้มงวดในการติดตาม การวางแผนสต็อกรถยนต์อย่างใกล้ชิด อีกทั้ง บริษัทยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียน ท่ามกลางสภาวะที่หนี้ครัวเรือนสูง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ทรงตัว 2.4% ของสินเชื่อรวม ตามกลยุทธ์การขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวัง พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางของรัฐ ทั้งนี้ ระดับค่าเผื่อสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 154.8%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 20.6% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.6% และ 2.0% ตามลำดับ