นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยถึงแนวคิดในการปรับอัตราค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charges : PSC) สำหรับผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศและภายในประเทศว่า บมจ. ท่าอากาศยานไทย [AOT] หรือ ทอท. ได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ว่า มีการจัดเก็บในอัตราเท่าไร แตกต่างจาก ทอท.อย่างไร และกรณีที่สนามบินของ ทอท.จะปรับขึ้นค่า PSC ควรปรับในอัตราเท่าไร และจะส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารหรือไม่ และจะทำให้ ทอท.มีรายได้เพิ่มแค่ไหน
"ทอท.น่าจะสรุปการศึกษาใน 2 เดือนนี้ หลักการต้องดูประเทศอื่นว่าเก็บในอัตราเท่าไร แล้วของเราควรเท่าไรจึงจะเหมาะสม ซึ่งเก็บจากผู้โดยสารขาออก ส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารต่างชาติ มองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบ ซึ่งรายได้จาก PSC นั้น จะทำให้ทอท.สามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงบริการ และนำไปลงทุนพัฒนาขยายสนามบิน เช่น โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ได้อีกด้วย"ด้านนางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า หลังจากสนามบินของ ทอท.ไม่ได้ปรับค่า PSC เป็นระยะเวลา 19 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ก็ได้ปรับขึ้นในอัตรา 30 บาท ทำให้ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศปรับจาก 700 บาทต่อคน เป็น 730 บาทต่อคน และผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ จาก 100 บาทต่อคน ปรับเป็น 130 บาทต่อคน
กระบวนการพิจารณาปรับค่า PSC ในครั้งนั้น ทอท.ได้เสนอสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)หรือ CAAT ปรับขึ้นในอัตรา 35 บาทต่อคน แต่ได้รับอนุมัติที่ 30 บาทต่อคน ดังนั้น ทอท.จึงจะเสนอ CAAT เพื่อขอปรับขึ้นอีก 5 บาทต่อคน และได้รับการเห็นชอบแล้ว จะทำให้ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ จัดเก็บ 735 บาทต่อคน ผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ เป็น 135 บาทต่อคน คาดว่าจะได้รับการพิจารณาเร็วๆนี้ และตามขั้นตอนต้องแจ้งให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 4 เดือนหรือบังคับใช้ได้ช่วงต้นปี 2569
นอกจากนี้ ทอท.ยังอยู่ระหว่างศึกษาอัตราค่า PSC ที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยจะนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณา เช่น การปรับขึ้นจะทำให้คนเดินทางลดลงหรือไม่ รวมถึงดูข้อมูลจากสนามบินรอบข้าง อย่างสนามบิน ชางฮี สิงคโปร์ ปัจจุบันเก็บค่า PSC ที่ประมาณ 1,300 บาท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทอท.ต้องปรับให้เท่ากับสนามบินชางฮี คาดว่า จะสรุปผลศึกษาได้ในเดือนต.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอไปที่ CAAT และเสนอคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ขออนุมัติตามขั้นตอนต่อไป
หากมีการปรับขึ้นค่า PSC จะทำให้ ทอท.มีรายได้เพิ่ม ขณะที่ก็ต้องปรับปรุงบริการให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ทอท.มีรายได้จากค่า PSC ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี โดยนำส่วนต่างของรายได้ไปพัฒนาสนามบิน ซึ่งเป็นหลักการของสนามบินทั่วโลก ส่วนการจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค ( Aviation Hub) สนามบินเองต้องมีการวางแผนและปรับตัวให้สอดรับกับนโบายรัฐบาลมีนโยบายในการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างเป็นระบบ
นางสาวปวีณา กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการรอบ 9 เดือนปี 2568 ยังถือว่าน่าพอใจ แม้จำนวนผู้โดยสารจะไม่เป็นไปตามเป้า แต่แนวโน้มช่วงไตรมาส 4/68 คาดว่าจะดีขึ้น ขณะที่ Slot การบินเดือน ก.ค.68 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.67 จากเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมา เป็นผลจากรัฐบาลได้แก้ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น และจากที่ AOT พยายามอย่างเต็มที่ทั้งการหารายได้เพิ่มและลดค่าใช้จ่าย คาดว่ารายได้ปี 68 จะเพิ่มจากปี 67 และผลดำเนินงานจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี
ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการ จำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) นั้น ทอท.ได้จัดจ้างสถาบันการศึกษา 2 รายเป็นที่ปรึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศึกษาทั้งประเด็นด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การเงิน และการบริหารธุรกิจ เพื่อวิเคราะห์ข้อจำกัดของสัญญาเดิม รวมถึงเสนอแนวทาง ที่เหมาะสมและเป็นธรรม คาดว่าจะได้ข้อสรุปตามระยะเวลาที่กำหนด 60 วัน จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาต่อไป