
การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา ได้ทำจุดต่ำสุดปิดตลาดที่ระดับ 1,062 จุด เนื่องจากความกังวลในเรื่องการกำหนดตัวเลขอัตราภาษีภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์กับนานาประเทศทั่วโลก รวมถึงสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศไทยเอง และต่างประเทศ ฯลฯ
ในการปรับตัวลดลงของ SET INDEX ช่วงก่อนหน้านั้นจนถึงช่วงเวลาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อหุ้นรายตัวที่ถูกนำไปวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอวงเงินมาใช้ซื้อหุ้นเพิ่ม หรือบัญชีมาร์จิ้น (Margin Account) สูงๆ ถูกกดดันให้ถูกบังคับขาย (Force sell) ออกมา หากไม่สามารถนำเงินสดไปเติม หรือหาหลักทรัพย์มาค้ำประกันเพิ่ม

ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อัปเดตข้อมูลที่เป็นสถิติสำคัญ เรื่อง สรุปรายงานหุ้นที่วางเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น ล่าสุดข้อมูล ณ เดือน มิถุนายน 2568 พบว่า หุ้นที่มีสัดส่วนการลดลงของการใช้มาร์จิ้นแบบมีนัยสำคัญ คือหุ้น บมจ.บัตรกรุงไทย [KTC] กับ หุ้น บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป [BTS]
หุ้น KTC เคยมีปริมาณตัวเลขมาร์จิ้นในเดือนพฤษภาคม 2568 สูงถึง 420,204,381 หุ้น หรือคิดเป็น 16.30% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนทั้งหมด แต่กลับลดลงเหลือแค่ 90,478,467 หุ้น หรือคิดเป็น 3.51% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนทั้งหมด เท่ากับว่า เพียงแค่ข้ามเดือนจากพฤษภาคมมาเป็นเดือนมิถุนายน หุ้น KTC มีปริมาณการใช้มาร์จิ้นที่หายไป -329,725,914 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ลดลง -78.47%ของปริมาณหุ้นที่เคยอยู่ในมาร์จิ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้ปริมาณการใช้มาร์จิ้นลดลงนั้น คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถูก force sell ออกมา เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่ำกว่า หลักประกันที่วางไว้ และไม่สามารถนำสินทรัพย์มาวางเพิ่มเติมได้
ขณะที่หุ้น BTS เคยมีปริมาณตัวเลขการใช้มาร์จิ้นในเดือนพฤษภาคม 2568 ที่สูงถึง 309,768,087 หุ้น หรือคิดเป็น 1.92 %ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนทั้งหมด ก็ลดลงเหลือ 168,994,987 หุ้น หรือคิดเป็น 1.05% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนทั้งหมด
เท่ากับว่า เพียงแค่ข้ามเดือน จากพฤษภาคมมาเป็นเดือนมิถุนายน หุ้น BTS มีปริมาณการใช้มาร์จิ้นที่หายไป -140,773,100 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ลดลง -45.44%
ผลกระทบของการปรับตัวลดลงของราคาหุ้น จะมีผลต่อปริมาณการใช้มาร์จิ้นที่ลดลง ดังนั้นหุ้นที่มีการนำไปวางมาร์จิ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นขาลง มีความเสี่ยงที่หุ้นเหล่านั้น จะถูก force sell หรือ ถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม และเมื่อเจ้าของไม่สามารถเติมหลักประกันหุ้นจึงปรับตัวลง
การปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของหุ้นเหล่านี้ เกิดจากการถูก force sell ตามหลัก demand-supply และในจังหวะที่ supply ล้น demand หาย การตื่นตระหนก หรือ panic sell ของนักลงทุนจึงตามมาอย่างรุนแรง มากกว่าจะเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานของหุ้นสองตัวนี้ ฉะนั้น นักลงทุนจึงต้องระมัดระวังหุ้นที่มีการวางมาร์จิ้นในปริมาณมากๆ และการกระจุกตัวจากการใช้มาร์จิ้นของนักลงทุนรายใหญ่ หรือแม้แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ตาม
ในส่วนหุ้นที่มีการเพิ่มปริมาณการใช้มาร์จิ้นนั้น หลักๆ ให้ดูในเรื่องของปริมาณการใช้มาร์จิ้น เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นจดทะเบียนทั้งหมด หากไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็ถือเป็นการ leverage ที่รับได้
ประเด็นความรับได้ในการ leverage หรือใช้มาร์จิ้นหุ้นใดๆ ก็ตาม เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องศึกษาหาข้อมูล และตั้งเส้นแบ่งระดับความเสี่ยง ของตนเองก่อนเข้าลงทุน ซึ่งระดับความพึงพอใจในแต่ละเส้นแบ่งความเสี่ยง ของแต่ละคนไม่เท่ากัน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ ภาวะตลาด หรือบรรยากาศการลงทุน ที่จะต้องนำเข้ามาคำนวณอยู่ในความเสี่ยง ที่จะใช้หรือไม่ใช้ มาร์จิ้น
หากตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้น ข้อดีของการใช้ มาร์จิ้นสามารถเพิ่มผลตอบแทนที่เป็นไปได้หากประเมินว่า แนวโน้มของราคาหุ้นที่ลงทุนจะมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น นักลงทุนก็จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าการใช้เงินสดเพียงอย่างเดียว
ฉะนั้น การศึกษา และวางแผนการใช้มาร์จิ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่แพ้การศึกษาเรื่องพื้นฐานของหุ้นแต่ละบริษัทก็ว่าได้
ลิ้งค์สรุปรายงานหุ้นที่วางเป็นหลักประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น
https://www.set.or.th/th/market/statistics/market-statistics/margin-accounts
ธิติ ภัทรยลรดี