ก.ล.ต.ปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลประกอบธุรกิจบริษัทเรทติ้งใน-ตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 10, 2011 09:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 12/2554 ประจำเดือน พ.ย.ว่า คณะกรรมการเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจัดอันดับที่จัดตั้งในประเทศและต่างประเทศให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามแนวทางขององค์กร ก.ล.ต.โลก(International Organization of Securities Commissions:IOSCO)เพื่อให้การประกอบธุรกิจการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนที่นำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน

ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดตั้งในประเทศจะต้องมีวิธีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างเป็นระบบ มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือ สามารถดำเนินงานอย่างเป็นอิสระ มีระบบป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ มีวิธีการจัดการข้อมูลที่ได้รับมาอย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ ทันเหตุการณ์ และหากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่ได้เกิดจากการว่าจ้างของผู้ออกตราสาร บริษัทจะต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในรายงานทุกครั้ง พร้อมระบุด้วยว่าผู้ออกหลักทรัพย์มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลหรือไม่ เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลมีความโปร่งใสและเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน

สำหรับบริษัทที่จัดตั้งในต่างประเทศและต้องการประกอบธุรกิจจัดอันดับความน่าเชื่อถือในประเทศไทยนั้น จะต้องเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจจัดอันดับความน่าเชื่อถือในต่างประเทศอยู่แล้วและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยยังคงจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้เฉพาะตราสารที่กำหนดเท่านั้น เช่น ตราสารหนี้ที่ออกโดยนิติบุคคลต่างประเทศหรือบริษัทลูกของนิติบุคคลต่างประเทศ ตราสารหนี้ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายไทยเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ หรือมีการเสนอขายตราสารหนี้ในประเทศและต่างประเทศในคราวเดียวกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีอำนาจเพิกถอนการให้ความเห็นชอบการประกอบธุรกิจดังกล่าว หากบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางขององค์กร ก.ล.ต. โลก หรือถูกเพิกถอนการให้ความเห็นชอบจากผู้กำกับดูแลของประเทศที่บริษัทจัดตั้งขึ้น

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. กำหนดให้ต้องใช้สัญลักษณ์พิเศษสำหรับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารที่มีโครงสร้างซับซ้อน ซึ่งรวมถึงธุรกรรมแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ขั้นพื้นฐาน (plain securitization) และธุรกรรมแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่มีหลายชั้น (tranche) ด้วย

“เนื่องจากหลักเกณฑ์กำกับดูแลการประกอบธุรกิจจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ใช้มาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่พัฒนาการทางการเงินของโลกได้เปลี่ยนแปลงไป และประเทศอื่นได้หันมากำกับดูแลธุรกิจนี้มากขึ้น ก.ล.ต. จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้มาตรฐานการกำกับดูแลและการดำเนินการของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือสอดคล้องกับหลักสากล ทั้งในเรื่องคุณภาพ การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การเปิดเผยข้อมูล และการเก็บรักษาข้อมูล เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถนำข้อมูลการจัดอันดับมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของตราสารที่ต้องการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและด้วยความมั่นใจ" นายวรพล กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ