ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 409,012 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 30, 2012 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (23 - 27 มกราคม 2555) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 409,012 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 81,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 17% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 86% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 352,661 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 43,894 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 6,901 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือ รุ่น LB193A (อายุ 7.1 ปี), LB176A (อายุ 5.4 ปี)และ LB133A (อายุ 1.1 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 12,278 ล้านบาท 6,778 ล้านบาท และ 5,399 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12214A (อายุ 14 วัน), BOT151A (อายุ 3 ปี), และ CB12223C (อายุ 28 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 124,988 ล้านบาท 32,433 ล้านบาท และ 23,510 ล้านบาท ตามลำดับ

ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกนั้น ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT128A (AAA)) มูลค่าการซื้อขาย 832 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW194A (A)) มูลค่าการซื้อขาย 628 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (HEMRAJ16OA (A-)) มูลค่าการซื้อขาย 624 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงเล็กน้อย หรือโดยเฉลี่ยแล้วลดลงอยู่ในช่วงประมาณ -1 ถึง -5 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ซึ่งภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 17% โดยที่ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) ลงอีก 0.25% จาก 3.25% มาอยู่ที่ 3.0% นอกจากนี้แล้วการที่วิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ยังไม่ได้ข้อสรุปของการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน จึงมีผลทำให้เม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากประเทศเหล่านี้ และเข้ามาลงทุนในประเทศแถบอาเซียนมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับอานิสสงค์จากไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนในรอบนี้

ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ 32,305 ล้านบาทในตลาดตราสารหนี้ โดยที่มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่ของนักลงทุนกลุ่มนี้ยังคงเน้นไปในตราสารระยะสั้น (มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) เป็นหลัก จึงไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมของการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดมากเท่าใดนัก และสำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่ถึงแม้จะมีสัดส่วนของการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมียอดซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องประมาณ 823 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ