(เพิ่มเติม) รมว.คลัง เผยวงหารือส.ธนาคารไทยตกลงให้เก็บค่าต๋งแบงก์เอกชน-รัฐ 0.47%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 13, 2012 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมกับผุ้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สมาคมธนาคารไทยเช้าวันนี้มีข้อคิดเห็นที่สอดคล้องกันในเบื้องต้นเกี่ยวกับอัตราการเรียกเก็บเงินนำส่งจากธนาคารพาณิชย์เอกชนรวม 0.47% ของฐานเงินฝาก แบ่งเป็น 0.46% ของฐานเงินรับจากประชาชน ซึ่งเป็นเงินฝาก รวมกับตั๋วแลกเงิน(B/E)และตราสารหนี้อื่น และส่งเข้าสถาบันคุมครองเงินฝาก 0.01% ของฐานเงินฝาก

ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจภาครัฐที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการปฏิบัติที่ลักลั่นกัน จึงจะมีการดูแลแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการจัดเก็บเงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในอัตราเท่ากันที่ 0.47% ของฐานเงินฝาก เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาประเทศขึ้นมา

นอกจากนั้น ยังได้มอบหมายให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาให้มีการทบทวนแนวทางคุ้มครองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ให้มีระดับสูงกว่าที่กำหนดไว้ในแผนเดิม เพราะมองว่าการดูแลการฝากเงินโดยที่ธปท.ได้มีการดูแลสถาบันการเงิน หากเรามั่นใจการดูแลและการรับประกันเพื่อให้ความเชื่อมั่นผู้ฝากเงินสามารถที่จะทำได้

"ความตั้งใจเดิมที่อยากให้มีเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก 2 แสนล้านบาท เชื่อได้หรือว่าคุ้มครองเงินฝากได้ทั้งระบบ หากน้อยเกินไปก็จะต้องเพิ่มเป็น 5 แสน หรือ 8 แสนล้านบาท ระบบเศรษฐกิจไทยจะเอาเงินไปกองจำนวนมาก ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในการคุ้มครองเงินฝาก คงไม่มีประเทศไหนจะเอาเงินไปกองมาก ๆ เพื่อสร้างความเชื่อถือ แต่หากมั่นใจการตรวจสอบและการดูแลของแบงก์ชาติ สำหรับผมมีมากกว่านั้น หากเราเชื่อว่าสถาบันการเงินเราเข้มแข็งก็ขอให้เราเปลี่ยนวิธีคิดในการดูแลผู้ฝากเงินให้เข้มข้นขึ้น"นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า สำหรับอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ 0.47% เป็นอัตราที่ ธปท.พร้อมจะเข้าไปดูแลอัตราดอกเบี้ยจ่ายของหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และจะทยอย ๆ ลดเงินต้น ซึ่งในช่วงแรกไม่จำเป็นต้องเร่งลดเงินต้น แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ภาระหนี้เงินต้นจะลดลงเอง ดังนั้นการกำหนดระยะเวลาคืนหนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม อัตราดังกล่าวสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้

ทั้งนี้ การดำเนินการครั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าภาระหนี้ใหม่ที่รัฐบาลจะดำเนินการจะได้รับการดูแล ขณะที่หนี้เก่าที่ถูกซุกซ่อนมาเป็นเวลานานก็จะถูกแก้ไข อัตราที่จัดเก็บใหม่เริ่ม 31 ก.ค.จะนำไปสู่การที่รัฐบาลไม่ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อดูแลภาระหนี้ส่วนหนี้ และเป็นการเดินหน้าประเทศไทยจาก พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องอีก 3 ฉบับในการแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ