ดัชนีหุ้นแบงก์เด้ง 4.22 จุด หลังสรุปเก็บค่าต๋งใหม่ต่ำกว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 13, 2012 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีกลุ่มแบงก์เด้งขึ้น โดยเมื่อเวลา 14.32 น.ดัชนีกลุ่มแบงก์อยู่ที่ 406.26 จุด เพิ่มขึ้น 4.22 จุด(+1.05%)

ล่าสุด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว. คลัง ได้แถลงข่าวว่า อัตราเงินนำส่งที่ธนาคารพาณิชย์จะนำส่งให้แก่ ธปท. เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) จะอยู่ที่ 0.47% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเดิมที่ตลาดได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 0.55-0.60% โดยผลกระทบในเบื้องต้นจากการเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าวต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 6% ต่ำกว่าเดิมที่เราคาดว่าไว้ในระดับเกินกว่า 10% ซึ่งถือเป็นประเด็นบวกสำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ประเด็นข่าวดังกล่าวถือว่าเป็นผลดีต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาหุ้นได้รับแรงกดดันจากประเด็นดังกล่าว โดยหากประเมินผลกระทบในเบื้องต้นธนาคารขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยมองว่าราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันซื้อขายที่ระดับ 1.5 เท่า PBV ซึ่งถือว่าไม่ถูกและไม่แพงเกินไป ขณะที่กระแสการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องอาจเป็นประเด็นผลักดันราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงนี้ได้ จึงแนะนำ Trading หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ ที่ได้ผลดีจากประเด็นความชัดเจนของค่าธรรมเนียม โดยเลือก KTB (ราคาเป้าหมาย 18 บาท) เป็น Top pick

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ค่อนข้าง Underperform เมื่อเทียบกับตลาด โดยประเด็นสำคัญที่กดดันราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมาคือ ประเด็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากเงินฝากและตั๋วแลกเงิน (B/E) เพื่อใช้ชำระดอกเบี้ยและหนี้ของ FIDF แต่ล่าสุด ได้มีการประกาศตัวเลขอัตราการจัดเก็บออกมาแล้วที่ 0.47% ของฐานเงินฝากรวมกับตั๋วแลกเงิน (B/E) ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดเคยมีการคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.55-0.60% โดยในอัตราใหม่ที่ 0.47% นั้น จะแบ่งเป็น 0.01% นำส่งเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และที่เหลืออีก 0.46% นำส่ง ธปท. เพื่อชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของหนี้ FIDF

ทั้งนี้ ได้ประเมินผลกระทบในเบื้องต้นต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 6.0% ต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ว่าผลกระทบน่าจะอยู่ในระดับเกินกว่า 10% โดยธนาคารที่จะได้รับผลกระทบสูงที่สุดได้แก่ TISCO (17.6%) เนื่องจากฐานเงินทุนส่วนใหญ่ถึง 72% เป็นตั๋วแลกเงิน (B/E) ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าว ตามมาด้วย TCAP, KK, TMB, KTB, BAY, SCB, BBL, และ KBANK ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแต่ละธนาคารน่าจะมีกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนแหล่งที่มาของฐานเงินทุน เพื่อลดผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว ผลกระทบที่แท้จริงที่อาจจะเกิดขึ้นกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์จึงอาจจะต่ำกว่า 6% ที่ประเมินในเบื้องต้น

หลังจากที่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เราจะทำการปรับประมาณการผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลงจากประเด็นดังกล่าว โดยปัจจุบันคาดการณ์กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ 1.56 แสนล้านบาท หรือเติบโต 20% จากปีก่อนหน้า ซึ่งอาจจะต้องปรับลงเล็กน้อยระดับ 5-6% จากผลกระทบดังกล่าว

นอกจากนี้ มีข่าวด้วยว่าจะมีการเรียกจัดเก็บเงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิม, ธกส, ธอส. เป็นต้น ในอัตราที่เท่ากันที่ 0.47% เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทันของการแข่งขันในอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นผลดีต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ค่อนข้างเสียเปรียบธนาคารรัฐในแง่ของต้นทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ