KBANK ตั้งเป้ายอดสินเชื่อแฟคเตอริ่งรวมปี 55 โต 59%จาก 3.65 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 29, 2012 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้ายอดสินเชื่อแฟคเตอริ่งรวมในปี 55 เพิ่มเป็น 5.8 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 59% จากปี 54 ที่มียอดสินเชื่อ 3.65 หมื่นล้านบาท และส่วนแบ่งทางการตลาดน่าจะเพิ่มเป็น 24% จากปีก่อนที่ 20% โดยธนาคารยังคงมีส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่ยอดสินเชื่อแฟคเตอริ่งทั้งระบบในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.43 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่ 1.86 แสนล้านบาท

โดยล่าสุด ธนาคารได้เปิดตัวบริการสินเชื่อ เค แฟคเตอริ่ง เกินร้อย (K-Factoring More Than 100) ซึ่งเป็นบริการที่ให้วงเงินสินเชื่อก่อนการส่งมอบสินค้า (Pre-shipment Loan) และสินเชื่อหลังการส่งมอบสินค้า (Post Shipment Finance) สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง โดยมีจุดเด่นที่ความยืดหยุ่นในการใช้วงเงิน และการอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็ว เนื่องจากธนาคารมีประวัติการใช้สินเชื่อของคู่ค้ากว่า 6 หมื่นราย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะได้รับเงินภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนให้ธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารเครื่องดื่ม ยา กระดาษและบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ และการบริการ จัดหางาน รักษาความปลอดภัย บันเทิงและนันทนาการ โดยที่คู่ค้าได้ทั้งเอกชนและราชการ

สำหรับภาพรวมการปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ค่อนข้างทรงตัว ซึ่งถือว่าเป็นไปตามฤดูกาล แต่ธนาคารมั่นใจว่าสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีในไตรมาส 1/55 จะเติบโตได้ตามเป้าที่ 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายพัชร กล่าวถึง วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) จำนวน 3 แสนล้านบาท ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมปล่อยกู้ผ่านสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ถูกผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อช่วงปลายปี 54 ที่ผ่านมา ว่าน่าจะเพียงพอกับผู้ประกอบการที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด โดยในวันที่ 9 มี.ค. 55 ทางธปท. จะเริ่มมีการจัดสรรวงเงินให้แก่ธนาคารต่างๆแล้ว

"เราจะนำเงินกู้ต้นทุนต่ำที่ได้จากแบงก์ชาติมาปล่อยกู้ให้กับลูกค้าของเราก่อน เราไม่มีแผนที่จะนำไปรีไฟแนนซ์ลูกค้าจากธนาคารอื่นมา มองว่าวงเงินซอฟท์โลน 3 แสนล้านบาทที่แบงก์ชาติตั้งไว้เป็นวงเงินที่เยอะพอสมควร จึงน่าจะเพียงพอสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ถูกน้ำท่วม"นายพัชร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ