กสทช.เล็งดึง THCOM ช่วยคุมทีวีดาวเทียมหลังมูลนิธิฯ ร้องตรวจสอบโฆษณา

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 8, 2012 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กล่าวภายหลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 16 จังหวัด ยื่นหนังสือให้ควบคุมโฆษณาที่เป็นสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเผยแพร่ทางทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และวิทยุชุมชนว่า ตัวแทนได้ขอให้ประสานการควบคุมการโฆษณาดังกล่าวกับองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อสั่งระงับการจัดจำหน่าย เนื่องจากพบว่าปัจจุบันเนื้อหาการโฆษณาฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหารและยา พ.ศ 2522 คิดเป็น 95% โดยมีการโฆษณาที่แสดงสรรพคุณเป็นยา กล่าวคือ โฆษณาว่าสามารถบำบัดบรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค รวมไปถึงบำรุงร่างกายได้

นอกจากนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เสนอให้ กสทช.กำหนดกลไกกำกับดูแลและมีบทลงโทษแก่ผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ จัดสรรเวลาอย่างชัดเจนเพียงพอในช่วงเวลาที่เหมาะสม แก่หน่วยงานหรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคได้นำเสนอข้อมูลให้เท่าทันการโฆษณา และให้มีการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอและต่อเนื่องเพื่อวัตถุประสงค์ในการสนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความรู้ เท่าทันกับการโฆษณา ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี รวมทั้งต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชน และทีวีดาวเทียมตรวจสอบกันเองด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวได้มีการสะสมมานานมากแล้ว ซึ่งเข้าใจว่าสภาพของปัญหานั้นมีมากจนเกินที่จะเยียวยา แต่จะเร่งนำเรื่องเข้าสู่กติกา และก่อนมีกติกา อาจต้องมีมาตรการในการดูแลเบื้องต้น

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ต่อจากนี้ไปได้เชิญผู้บริหาร บมจ.ไทยคม(THCOM) ที่มีช่องรายการที่ผู้ประกอบรายการทีวีอยู่ 100 กว่าช่อง เพื่อขอความร่วมมือในการเผยแพร่ โดยจะขอความร่วมมือเรื่องโฆษณาที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ส่วนเรื่องเคเบิ้ลทีวีก็จะประสานขอความร่วมมือกับสมาคมทีวีดาวเทียม ซึ่งที่น่าห่วงที่สุดคือวิทยุชุมชนซึ่งมีผู้ประกอบการมาลงทะเบียน 6,601 สถานี แต่ยังมีการรวมตัวกันจึงยากต่อการประสานงานและขอความร่วมมือ

"กสทช.คงจะต้องใช้กระบวนการบังคับ THCOM ทางอ้อม ให้ช่วยดูแล ซึ่งในหลักการแล้ว THCOM จะเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะไม่ได้เจาะลึกลงไปในคอนเท้นท์ ซึ่งสิ่งที่เราทำได้คือเป็นตัวกลางเมื่อมีปัญหาจะเชิญผู้บริโภคและผู้ประกอบการมาหารือร่วมกัน ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ต้องมีกระบวนการออกใบอนุญาตก่อนซึ่งต้องรอเวลา ส่วนการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น อย. ในระยะเวลาอันใกล้จะมีการหารือร่วมกัน" น.ส.สุภิญญา กล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้นก่อนที่จะมีการออกใบอนุญาตจะมีการตรวจสอบการนำเสนอเนื้อหาของผู้ประกอบการโดยนำไปพิจารณาร่วมกับการออกใบอนุญาต โดยบทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จะมีผลบังคับใช้ได้ก็หลังจากที่กสทช.ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ แต่ปัญหาหนึ่งของกสทช.ที่ยังไม่สามารถดำเนินงานเรื่องนี้ได้อย่างจริงจัง คือ งบประมาณของกสทช.ที่ยังไม่เข้าสู่การอนุมัติอย่างเป็นทางการ ต้องพึ่งงบของกสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานได้จริงจังปีหน้า ทั้งนี้ เบื้องต้นจะขอเวลา 3 เดือนในการตรวจสอบและประกาศมาตรการชั่วคราวในการควบคุมดูแล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ