ทริสฯจัดเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกัน "เนชั่นแนล เพาเวอร์ฯ" ที่ BBB- แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 21, 2012 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของ บมจ.เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย (NPS) ที่ระดับ “BBB-" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “BBB" และหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB-" โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้และลงทุนตามแผน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement — PPA) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer — SPP) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ตลอดจนคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์จากกลุ่มดั๊บเบิ้ล เอ

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากความต้องการใช้เงินจำนวนมากเพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้ากำลังการผลิตรวม 800 เมกะวัตต์และจากการซื้อทรัพย์สินของกิจการภายในกลุ่มอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังมีข้อจำกัดจากสถานะอันดับเครดิตองค์กรระดับ “BBB" ของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ซึ่งถือหุ้น 36.2% ในบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย ณ เดือนธันวาคม 2554

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และคาดว่าผลประกอบการและฐานะการเงินจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากการลงทุนใหม่ให้ผลตอบแทนเต็มที่

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายเป็นผู้นำในธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 8 โรงด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 493 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ 880 ตันภายใต้โครงการ SPP รายได้จากการขายไฟฟ้าของบริษัทมีความมั่นคงเนื่องจากมีสัญญา PPA จำนวน 304 เมกะวัตต์ อายุ 25 ปีกับ กฟผ. และสัญญาขายไฟฟ้าจำนวน 74 เมกะวัตต์ กับบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) บริษัทขายไอน้ำที่ผลิตได้ทั้งหมดให้แก่บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ภายใต้สัญญาซื้อขายไอน้ำ

จากผลงานและประสบการณ์ในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัทจึงได้รับใบอนุญาตประกอบการโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการ SPP หลายแห่งและภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer — IPP) อีก 1 แห่ง รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเพิ่มทั้งหมด 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าของบริษัทและบริษัทย่อยตั้งอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าของบริษัทได้รับการออกแบบให้ใช้เชื้อเพลิงผสมระหว่างถ่านหินและชีวมวล แม้การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วมกับถ่านหินจะมีความได้เปรียบด้านต้นทุนและมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้เชื้อเพลิง แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลก็มีความเสี่ยงจากการสึกหรอของเครื่องจักรอุปกรณ์ในอัตราที่สูงกว่า

ปัจจุบัน บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายมีฐานะเป็นบริษัทหลักในธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่มดั๊บเบิ้ล เอ นอกจากธุรกิจไฟฟ้าแล้ว บริษัทยังสนใจลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและธุรกิจอื่นด้วยโดยบริษัทได้ลงทุนใน บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ เอทานอล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังด้วยกำลังการผลิต 500,000 ลิตรต่อวัน บริษัท เอ็นพีเอส โอเชี่ยน สตาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเรือขนส่งถ่านหินทางทะเลขนาด 52,000 ตัน และ บริษัท อินเตอร์ สตีวีโดริ่ง 5 จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการขนส่งถ่านหิน

ในปี 2554 บริษัทในกลุ่มดั๊บเบิ้ล เอ และบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มอย่างต่อเนื่อง บริษัทได้ซื้อทรัพย์สินของโรงไฟฟ้า 3 โรงจากบริษัทในกลุ่มดั๊บเบิ้ล เอ ในราคา 688 ล้านบาท โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล 100% ภายใต้โครงการ SPP ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 57 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำ 280 ตัน ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 493 เมกะวัตต์ ในปี 2554

บริษัทยังได้ซื้อหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องในกลุ่มดั๊บเบิ้ล เอ จำนวน 3 แห่ง มูลค่ารวม 207 ล้านบาทด้วย บริษัทย่อยใหม่ทั้ง 3 แห่งประกอบด้วยบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันรำข้าว และบริษัทผู้ให้บริการทำวิจัยและพัฒนาการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ซื้อสิทธิในการประกอบกิจการเหมืองถ่านหินของ PT Utami Jaya Mulia ในประเทศอินโดนีเซียมูลค่า 396 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2554

จากผลการดำเนินงานในปี 2554 บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายมีกำไรสุทธิรวม 569 ล้านบาท ลดลง 54% จากปี 2553 ซึ่งเป็นผลจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและการกลับสำรองการด้อยค่าของสินทรัพย์ที่ลดลงจากปีก่อน หากไม่รวมรายการพิเศษเหล่านี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 516 ล้านบาท ลดลง 20% จากปี 2553 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายลดลงเป็น 22.8% ในปี 2554 เทียบกับ 27.3% ในปี 2553 เนื่องจากบริษัทย่อยใหม่เช่นบริษัทผลิตน้ำมันรำข้าวและโรงไฟฟ้าที่เพิ่งซื้อใหม่มีอัตรากำไรที่ต่ำกว่า ทำให้อัตรากำไรโดยเฉลี่ยของบริษัทลดลง บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 19% เป็น 2,512 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากการรวมกำไรของบริษัทย่อยที่ลงทุนในระหว่างปี

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงเป็น 3.67 เท่าในปี 2554 จาก 4.87 เท่าในปี 2553 เนื่องจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นจากการขยายการลงทุน อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้น 52.1% ในปี 2554 จาก 43.7% ในปี 2553 เนื่องจากหนี้เงินกู้เพิ่มขึ้นเป็น 11,967 ล้านบาท จาก 8,804 ล้านบาท ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจากการสำรองค่าเผื่อการด้อยค่าของที่ดินของบริษัทย่อยคือ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย ไอพีพี จำกัด (NPSIPP) ปัจจุบัน NPSIPP อยู่ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ IPP โดย NPSIPP ซื้อที่ดินจากบริษัทที่เกี่ยวข้องจำนวน 807 ไร่ในราคา1,077 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ประเมินราคาอิสระประเมินราคาไว้เท่ากับ 41 ล้านบาท ผลต่างระหว่างราคาซื้อขายตามสัญญาและมูลค่ายุติธรรมของที่ดินถูกบันทึกไว้เป็นส่วนหักในส่วนของผู้ถือหุ้นของ NPS

ในระยะสั้นถึงปานกลาง ธุรกิจโรงไฟฟ้ามีความเสี่ยงจากต้นทุนถ่านหินและชีวมวลที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มราคาน้ำมัน ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของธุรกิจเอทานอลซึ่งจะเริ่มการผลิตในปี 2555-2556 ความเสี่ยงของธุรกิจเอทานอลรวมถึงความเสี่ยงด้านราคาจากการกำหนดเพดานราคาขายเอทานอลโดยรัฐบาล ในขณะที่ต้นทุนมันสำปะหลังมีความผันผวนจากความเป็นสินค้าโภคภัณฑ์

บริษัทมีแผนการลงทุนรวมมูลค่ากว่า 36,000 ล้านบาทที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องในระหว่างปี 2554-2559 ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการ IPP จำนวน 1 แห่ง โรงไฟฟ้า SPP ซึ่งใช้เชื้อเพลิงชีวมวล 2 แห่ง และโรงงานเอทานอลอีก 1 แห่ง กำหนดการเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้า SPP จะเริ่มตั้งแต่ปี 2556-2557 ส่วนโรงไฟฟ้า IPP จะก่อสร้างแล้วเสร็จในระหว่างปี 2559-2560 หากแผนการลงทุนทั้งหมดแล้วเสร็จจะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1,293 เมกะวัตต์จากกำลังการผลิตในปัจจุบัน 493 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทจะพัฒนาโรงไฟฟ้าทั้งหมดได้ตามกำหนดโดยไม่มีผลกระทบต่อฐานะการเงินยังเป็นประเด็นกังวลต่อสถานะอันดับเครดิต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ