ThaiBMA คาดปี 55 มีหุ้นกู้ออกใหม่ราว 3.5-4 แสนลบ.จาก 2.12 แสนลบ.ปี 54

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 30, 2012 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในปี 55 คาการณ์ว่าจะมีหุ้นกู้ออกใหม่รวมประมาณ 3.5-4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 54 ที่มีหุ้นกู้ออกใหม่รวม 2.12 แสนล้านบาท เนื่องจากภาครัฐและเอกชนมีความต้องการใช้เงินลงทุน รวมถึงธนาคารพาณิชย์จะมีการออกหุ้นกู้มากขึ้นในปีนี้ เป็นทางเลือกในการระดมทุน

โดยในไตรมาส 1/55 มีการออกหุ้นกู้ใหม่ 1.44 แสนล้านบาท ส่งผลให้มีปริมาณตราสารหนี้ออกใหม่มีมูลค่ารวม 2.94 ล้านล้านบาท ลดลง 18% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการลดลงของการออกพันธบัตรระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นภาวะปกติที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้น ทำให้ความจำเป็นของ ธปท.ในการออกพันธบัตรระยะสั้นเพื่อดูดซับสภาพคล่องในระบบมีน้อยลง ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2/55 คาดว่ามีเอกชนออกหุ้นกู้ใหม่ 1.2-1.4 แสนล้านบาทใกล้เคียงไตรมาส 1/55

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า เอกชนมีการออกตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้นถึง 323% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีการออกหุ้นกู้มากขึ้นเป็นมูลค่ารวมกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ในช่วงไตรมาส 4/54 ที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมท ทำให้เอกชนที่มีแผนออกหุ้นกู้ช่วงปลายปี โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ได้เลื่อนการระดมทุนมาเป็นช่วงไตรมาส 1/55 แทน ขณะที่การออกตราสารหนี้ระยะสั้นของภาคเอกชนในช่วงนี้ลดลง 25% เนื่องจากเป็นช่วงที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยลดลง ส่งผลให้การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ไม่มีรุนแรงมากนัก แต่เป็นการออกหุ้นกู้ระยะยาวเพื่อล็อคต้นทุนมากกว่า

สำหรับมูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง อยู่ที่ 4.716 ล้านล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 7.6 หมื่นล้านบาท/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการซื้อขาย 8 หมื่นล้านบาท/วัน ทั้งเนื่องเนื่องจากการซื้อขายตราสารหนี้ระยะสั้นที่ลดลง โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่ออกโดย ธปท. แต่หากไม่รวมการซื้อขายตราสารหนี้ระยะสั้น ที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี มีมุลค่าการซื้อขายรวมที่ 1.068 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% หรือเป็นมูลค่าการซื้อขาย 1.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการซื้อขาย 9.7 พันล้านบาท/วัน

นอกจากนี้ในช่วงไตรมาส 1/55 นักลงทุนต่างชาติยังคงเข้ามาซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ เป็นมูลค่า 2.98 แสนล้านบาท โดยเป็นการซื้อในตราสารหนี้ระยะยาว 4.9 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือน มี.ค.55 นักลงทุนต่างชาติมียอดถือครองตราสารหนี้สุทธิ 5.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 7% ของตราสารหนี้คงค้างทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 54 ที่มีสัดส่วนที่ 6%

"ในช่วงที่ผ่านมาผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้นลดลง ตามดอกเบี้ยนโยบาย แต่ผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้น 0.03-0.52% และแนวโน้มผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวยังปรับสูงขึ้น ตามความจำเป็นของการใช้เงินลงทุน ทำให้แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีความต้องการออกตราสารหนี้ต่อเนื่องทั้งจากภาครัฐ เอกชน และแบงก์พาณิชย์ ขณะที่เงินลงทุนต่างชาติยังมีแนวโน้มไหลเข้าต่อเนื่อง เพื่อกระจายการลงทุนในตลาดเอเซีย จากปัญหาหนี้สหรัฐและยุโรป" นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากว่าจะทรงตัวต่อไปหรือปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากพิจารณาในแง่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยแม้จะฟื้นตัว แต่ยังช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้จะมีความจำเป็นในการลงทุน แต่ยังมีข้อจำกัดที่ภาคการผลิตหลายสาขา ยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติ ประกอบการภาวะด้านต่างประเทศไม่ดีส่งผลกระทบต่อการส่งออก

ดังนั้นมองว่า หากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่มาก แต่เงินเฟ้อกลับเร่งตัวขึ้น จากผลกระทบของราคาน้ำมัน การปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 2 พ.ค.55 คงต้องพิจารณาปัจจัยท้าทาย ซึ่งหวังให้ ธปท.ให้ความสำคัญต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อมากกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

"กนง.ต้องดูว่าภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน เงินเฟ้อเร่งตัวมากน้อยแค่ไหน เพื่อหาข้อสรุปความเสี่ยงต่อการเติบโตเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเพื่อตัดสินใจเรื่องนโยบายดอกเบี้ย" นายบัณฑิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ